วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

อานุภาพของสัจจะ

ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก

อานุภาพของสัจจะ

เมื่อเวลาที่สมาธิไม่ดีหรืออานุภาพแห่งมนต์คาถาเสื่อม  คนโบราณท่านจึงหันมาทบทวนสัจจะและศีลของตัวเอง

โดย ชลี

รักษาคำสัตย์เพียงอย่างเดียวก็ยังได้ไปเกิดในสวรรค์

        คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้จารึกเรื่องราวอานิสงส์ของการรักษาคำสัตย์เอาไว้ว่า
        ในกาลก่อนมีสตรีนางหนึ่ง  ไม่ได้ให้ทาน  ไม่ได้ทำการบูชา  ไม่ได้ฟังธรรมเลย  มีแต่รักษาเพียงคำสัตย์อย่างเดียว  ตายแล้วไปบังเกิดในเทวโลก
        พระมหาโมคคัลลานะ จาริกไปในพรหมโลก  ยืนอยู่ใกล้ประตูวิมานของเทวดานั้น ถามว่า 
เธอทำบุญอะไรไว้ จึงได้สมบัติมากเช่นนี้ 
นางเทพธิดานั้นตอบท่านว่า 
บุญนี้ดิฉันได้เพราะรักษาคำสัตย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
.............................
        พระเถระมาถวายบังคมพระศาสดา ทูลถามว่า
        พระเจ้าข้า  บุคคลอาจได้ทิพยสมบัติด้วยคุณเพียงพูดแต่คำสัตย์อย่างเดียวเท่านั้น ได้หรือไม่
        พระศาสดาตรัสว่า
        โมคคัลลานะ  เหตุไฉนเธอจึงถามเราเล่า  ความข้อนี้ นางเทพธิดาบอกแก่เธอแล้วมิใช่หรือ
        จึงเป็นเรื่องที่ยืนยันได้ว่า  พุทธธรรมนั้นให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาคำสัตย์เพียงไร

วิกฤตสัจจะไม่ใช่เรื่องธรรมดา

        การรักษาคำพูด หรือ การไม่กล่าวเท็จ ก็คือข้อหนึ่งใน ศีลห้า อันถือว่า เป็นมนุษยธรรม คือ ธรรมของมนุษย์  ถ้าต่ำกว่านี้มนุษย์ก็มักจะมีปัญหาเสมอ
        ในสังคมยุคปัจจุบันนี้การที่จะพูดตรงไปตรงมาไปเสียทั้งหมดนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยากอยู่สักหน่อย เช่น ถ้ามีคนถามว่าคิดอะไรอยู่ เราก็มักจะตอบว่า เปล่า ไม่ได้คิดอะไร  ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วก็คิด  นี่อาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรนักแต่ก็อาจทำให้เราสังเกตได้ว่า  ในต่างยุคสมัยนั้นความมีสัจจะของผู้คนก็ต่างกัน 
        เรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่ายุคไหนๆ  คำพูดที่ให้แก่กันไว้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ถ้าไม่รักษาเอาไว้ก็จะเกิดวิกฤตตามมาจนได้  การไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้ บางครั้งคนเราอาจไม่สังเกตพบผลเสียในทันทีทันใด  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้วแน่นอนทันทีคือ จะเป็นคนไม่จริงกับสิ่งที่ตัวเองได้ พูด คิด และตั้งใจไว้ หรือ ลบล้างและทรยศต่อสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา
        ฉะนั้น เมื่อเวลาที่สมาธิไม่ดีหรืออานุภาพแห่งมนต์คาถาเสื่อม  คนโบราณท่านจึงหันมาทบทวนสัจจะและศีลของตัวเอง
แม้ในปัจจุบัน เรื่องของเครดิตก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ไม่ยาก  ถ้าคนเราถูก ดิสเครดิต หมดความเชื่อถือลงเมื่อใด  กว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ก็ยากแสนยาก  อันตรายจาก วิกฤตความเชื่อ เป็นเรื่องที่คนยุคนี้เข้าใจกันดี  นี่อาจเป็นเรื่องสังคมภายนอก  แต่สำหรับภายในนั้นยิ่งไปกันใหญ่
คนเราจะทำอะไรให้ดีได้ล่ะ ถ้าหากธาตุแท้ของความเป็นตัวเรานี้ไม่จริงกับอะไรสักอย่าง
       ประโยชน์หรือข้อได้เปรียบจากการไม่รักษาคำพูดมันจะได้สักเท่าไหร่กัน  ถ้าคนเรามานึกถึงว่า  ได้ประโยชน์จากเขา แต่อริยทรัพย์ของเราพร่องไปทุกที..

อมตะตลอดกาล

        อำนาจของสัจจะหรือบุญฤทธิ์ของสัจบารมีนั้น  ไม่ว่าคนยุคนี้จะเชื่อมั่นกันเต็มร้อยหรือไม่  เรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องอมตะตลอดกาล เช่น เรื่องพระร่วงกับขอมดำดิน เรื่องสัจจะของนางสุชาดาในตำนานพระแก้วดอนเต้า เรื่องสัจจะของพระนางมัสสุหรีหรือพระนางเลือดขาวแห่งลังกาวี เป็นต้น  นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของพระเถระผู้มีวาจาสิทธิ์อีกมากมาย

ด้วยสัจจกิริยาของลูกนกคุ่มโพธิสัตว์
ไฟจะไม่ลุกหรือแม้จุดไฟก็ไม่ติดไปตลอดกัป(ภัทรกัป)

        ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาใน อรรถกถาชาดก ได้กล่าวไว้ว่า 
เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์และทรงถือกำเนิดเป็น ลูกนกคุ่ม  นกพ่อแม่ทำรังอยู่ในป่า  ทิ้งให้ลูกนกนอนอยู่ในรัง  ส่วนนกสองตัวผัวเมียก็ออกไปหาเหยื่อมาป้อน  ยังมิทันที่ลูกนกจะมีกำลังกางปีกบินและยกเท้าก้าวเดินได้ก็พอดีถึงฤดูไฟไหม้ป่า  ไฟเกิดไหม้ป่าลุกลามมาเสียงดังสนั่นหวั่นไหว  บรรดาฝูงนกทั้งหลายต่างกลัวตาย  พากันส่งเสียงร้องเอ็ดอึงบินออกจากรังของตนหนีไป  นกคุ่มพ่อแม่ทั้งสองของพระโพธิสัตว์ก็กลัวตาย  จึงทิ้งพระโพธิสัตว์ไว้ในรังแล้วพากันบินหนีไปเช่นกัน  พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังยืดคอออกดู  เห็นไฟป่ากำลังลุกลามท่วมท้นเข้ามาจึงรำพึงว่า
.....ถ้าข้าพเจ้ามีกำลังกางปีกบินไปในอากาศได้ ข้าพเจ้าก็จะบินไปที่อื่น  ถ้าข้าพเจ้ามีแรงยกขาเดินไปบนพื้นดินได้ ข้าพเจ้าก็จะก้าวขาเดินไปที่อื่น  ทั้งพ่อและแม่ของข้าพเจ้าก็กลัวตายทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ผู้เดียว ต่างเอาตัวรอดบินหนีไปแล้ว  บัดนี้ข้าพเจ้าไม่มีที่พึ่งอื่น  ตัวเองก็หาคุ้มครองตัวเองได้ไม่ ตัวเองหาเป็นที่พึ่งแก่ตัวไม่  วันนี้ข้าพเจ้าควรทำอย่างไรดีหนอ  ครั้นแล้วก็คิดได้ว่า  ในโลกนี้มีคุณคือ ศีล มีคุณคือ สัจจะ  พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีมาแล้วในอดีต  ได้ประทับนั่ง ณ โคนไม้โพธิพฤกษ์และทรงตรัสรู้แล้ว  พระองค์ทรงประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ  ประกอบด้วยสัจจะ ด้วยความเอ็นดู ด้วยความกรุณาและขันติ  ทรงเจริญเมตตาในสรรพสัตว์ทั้งหลายบรรดามีอยู่ในโลกมาแต่อดีตกาล  อนึ่ง คุณธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดมีอยู่ เรื่องนี้เป็นสัจจะ คือความจริง  แม้ในตัวข้าพเจ้าเองก็มีสัจจะ 3 ประการปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าควรระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว  พร้อมทั้งคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบรรลุแล้วนั้น  ยึดเอาสัจจะที่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้ามาทำสัจจกิริยา  ขอให้ไฟป่าถอยกลับไป  ทำความสวัสดีให้เกิดแก่ตนเองและฝูงนกทั้งหลายด้วย.....
ครั้นแล้ว ลูกนกคุ่มก็ทำสัจจกิริยา(ซึ่งภายหลังเรียกว่า วัฏฏกะปริตร)  ไฟไหม้ป่าก็ดับไปเหมือนเอาคบเพลิงจุ่มลงในน้ำ  พระปริตรนี้มีเดชหรือความขลังตั้งอยู่ชั่วกัปในที่บริเวณนั้น  ไฟจะไม่ลุกหรือแม้จุดไฟก็ไม่ติดไปตลอดกัปด้วย
       
วัฏฏกะปริตร มีอานุภาพป้องกันไฟและภยันตราย

        ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนที่จะตามมานี้เป็นช่วงที่เกิด อัคคีภัย ได้ง่าย  พุทธศาสนิกชนผู้ไม่ประมาทนอกจากจะต้องระมัดระวังรอบคอบแล้ว  การสวด วัฏฏกะปริตร ก็เป็นเครื่องป้องกันที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่ยึดถือกันมาแต่โบราณและกล่าวกันว่ามีผู้เห็นผลมามาก
        สำหรับคาถา หัวใจนกคุ่ม หรือ หัวใจนกคุ้ม นั้น เป็นคาถาที่มีมาแต่โบราณ  ใช้ภาวนากันความร้อนและไฟไหม้  เวลาเกิดไฟไหม้ให้ภาวนาคาถาแล้วใช้ผ้าหรือมือโบกไป ไฟก็จะดับ คาถามีเนื้อความว่า  สุ  โป  กัญ  จะ  บางตำราจะว่าคาถา หัวใจน้ำ คือ  อะ  ปา  นุ  ติ  ก่อนนำหน้า  จึงรวมเนื้อความเป็นว่า  อะ  ปา  นุ  ติ   สุ  โป  กัญ  จะ  มีอานุภาพเช่นกัน #

ผู้มีเมตตา ย่อมทำให้เป็นที่รัก

ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก

ผู้มีเมตตา  ย่อมทำให้เป็นที่รัก
ทั้งมนุษย์ สัตว์ ภูตผี และเทวดา

โดย ชลี

ไก่ป่ายังเชื่อง

          ครั้งหนึ่ง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์...
ณ บริวเณ วัดพลับ ร้าง (ปัจจุบันคือ วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร)  ตอนเช้ามืดใกล้สว่าง  คณะของพระอาจารย์สุกลุกขึ้นสวดมนต์ทำวัตรเช้ามืดประจำกลด  แผ่เมตตาออกบัวบานพรหมวิหารไปทั่วบริเวณวัดพลับร้าง  ตามต้นไม้ใหญ่ๆ นั้น  เป็นที่สถิตของรุกขเทวดาน้อย-ใหญ่  จากนั้นพระองค์ท่านและคณะสงฆ์อนุจร ก็นั่งเจริญภาวนาสมาธิจิตอยู่สักครู่หนึ่งจึงออกจากสมาธิ
ขณะนั้นมีชายนุ่งขาวห่มขาวประมาณ ๕ ท่าน ทั้งแก่และหนุ่ม  เดินออกมาจากชายป่าด้านทิศตะวันตกของวัดพลับร้าง ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่  เป็นพญาไม้นานาพันธุ์  ชายนุ่งขาวห่มขาวทั้ง ๕ ต่างมีท่าทียิ้มแย้ม  เข้ามากราบนมัสการพระอาจารย์สุกกับพระสงฆ์อนุจร พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในที่นั้นทั้งหมดล้วนมีฌานแก่กล้า  ทรงอยู่ในเมตตาฌานตลอด  จึงสามารถแลเห็นรุกขเทวดาได้ด้วยตาเปล่า
เหล่ารุกขเทวดาเหล่านั้นต่างแสดงอาการดีใจออกมาให้เห็น  ทั้งนี้เพราะได้รับการแผ่เมตตาจากพระอาจารย์สุกและพระสงฆ์อนุจรทั้งสามรูป  ทำให้รุกขเทวดาเหล่านั้นมีความสุขเกษมสำราญ  เหมือนเมื่อครั้งพระอาจารย์สุก พระอาจารย์จ้าว วัดเกาะหงส์ ท่านแผ่เมตตาให้ เมื่อ ๑๕ ปีก่อน  เมื่อสมัยที่เคยมารุกขมูลบริเวณนั้น  รุกขเทวดาเหล่านั้น  ได้อาราธนานิมนต์ให้พระอาจารย์สุก และคณะพระสงฆ์อนุจรอยู่ที่วัดพลับ  พระองค์ท่านทรงตอบว่า ฉันก็ตั้งใจว่าจะมาอยู่ที่นี่เหมือนกัน  รุ่งเช้าพระอาจารย์สุกและคณะพระสงฆ์อนุจรออกเที่ยวบิณฑบาต  โดยแยกกันไปตามบริเวณละแวกบ้านใกล้วัดหงส์บ้าง  บริเวณบ้านเรือนใกล้วัดพระนอนบ้าง  โดยถือไม้เท้าไผ่ยอดตาลคู่บารมีไปด้วย  พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ กลับมาถึงกลดแล้ว  ก็มีชาวบ้านตามมาถึงบริเวณที่ปักกลดเพื่อปรนนิบัติรับใช้พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔  ซึ่งเมื่อคืนนี้ ชาวบ้านก็ได้ยินเสียงร้องของเหล่าสัมภเวสีฝูงเปรต ที่จะร้องออกมาทุกครั้งเมื่อถึงวันพระ ชาวบ้านเคยได้ยินได้ฟังเสียงนี้มาจนเคยชิน
เนื่องจากคืนนั้นเป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ  อีกหนึ่งอาทิตย์ก็จะเข้าพรรษาแล้วคณะของพระอาจารย์สุก  ทุกท่านเป็นพระมหาเถรที่ถือธุดงค์ตลอดชีวิต ๓ ข้อ คือ  ถือครองผ้าไตรจีวรสามผืนเป็นวัตร ๑ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ ถือฉันอาหารในบาตรเป็นวัตร ๑  ทั้งสามข้อนี้พระองค์ท่านทรงถือ และถือ ตลอดพระชนม์ชีพ และตลอดชีวิต  ทุกพระองค์ขณะที่ชาวบ้าน เดินตามมาเพื่อปรนนิบัติรับใช้ พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ พระองค์
ที่กลดนั้น พวกบรรดาชาวบ้าน ก็ได้มองเห็นฝูงไก่ป่าจำนวนมาก มารุมล้อม พระอาจารย์สุก อยู่รอบกลด  ไก่ป่านั้นมีมากมายหลายชนิด ในบริเวณป่าวัดพลับร้างแห่งนี้ ชาวบ้านทั้งหลายก็พากัน อัศจรรย์ใจ ที่เห็นไก่ป่ามารุมล้อมพระอาจารย์สุกมากมายเช่นนี้ โดยไม่กลัวผู้คน และแตกตื่นบินหนีหายเข้าป่าไป เหมือนทุกครั้ง ที่ไก่ป่าได้กลิ่นคนและเห็นคน  พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการอนุโมทนา
พระอาจารย์สุก ท่านก็กล่าวขึ้นว่า ให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตตนนั้นที่อยู่ในป่าวัดพลับร้างนี้ด้วย  เพราะพระองค์ท่านทรงทราบด้วยญาณวิถีจิตว่า ณ. ที่นั้นมีบรรดาญาติของเปรตมัคนายกตนนั้นอยู่ด้วย  บรรดาญาติทั้งหลายอุทิศกุศลให้  เปรตตนนั้นๆ ก็รับอนุโมทนาส่วนบุญนั้น  ชาวบ้านได้สนทนาปราศรัยกับพระอาจารย์สุกว่า  วัดพลับแห่งนี้ร้างมานาน ๑๕ ปีแล้ว  มีเสียงเปรตร้องขอส่วนบุญทุกๆวันพระ
ขณะนั้น บรรดาคนในที่นั้นคนหนึ่ง  ตั้งใจจะถามเรื่องรุกขเทวดา  แต่ยังไม่ทันจะเอ่ยปากถาม  พระอาจารย์สุกก็ทรงกล่าวด้วยน้ำเสียงเมตตาเบาๆ ขึ้นก่อนว่า  ที่นี่แน่นขนัดไปด้วยต้นไม้ใหญ่-น้อย ร่มเย็นมาก  เป็นที่สิงสถิตของเหล่ารุกขเทวดา ทั้งหลาย
ขณะนั้นมีชาวบ้านอีกคนหนึ่ง นึกในใจว่าจะกล่าวอาราธนานิมนต์ให้พระองค์ท่านพำนักอยู่ที่วัดพลับ  ยังไม่ทันจะเอ่ยปากอาราธนานิมนต์พระองค์ท่าน  ก็ทรงกล่าวต่อเนื่องขึ้นว่าฉันตั้งใจไว้ว่าจะมาอยู่ที่นี่เพราะสงบเงียบร่มเย็นดี  ครั้นชาวบ้านกลุ่มนั้นกลับไปแล้ว  ต่างก็นำเรื่องราวที่พบเห็นไปบอกกล่าวเล่าลือกันสนั่นไป  ทั่วทั้งหมู่บ้านนั้นและละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงว่า มีพระสงฆ์รุกขมูลมาปักกลดที่วัดพลับร้างคณะหนึ่ง  ท่านกำหนดรู้ใจคนทั้งหลายได้  ทั้งพระองค์ท่านยังมีเมตตาจิตแก่กล้าจนทำให้ไก่ป่าเชื่องมารุมล้อมพระองค์ท่านอยู่มากมาย  ข่าวนี้ก็เรื่องลือระบือกันไปเหมือนไฟไหม้ป่า  นานแล้วพวกชาวบ้านจะได้พบเห็นพระภิกษุผู้มีเมตตาสูง มีความอัศจรรย์ยิ่งอย่างนี้  ผู้คนทั้งหลายจึงกะเกณฑ์นัดหมายกันว่า  เวลาตอนเย็นๆเสร็จธุระการงานแล้ว  จะรวมตัวกันมากราบนมัสการ พระอาจารย์สุก และคณะพระสงฆ์อนุจร ณ. ที่บริเวณวัดพลับร้าง

สร้างความสุขร่มเย็น

        พระภิกษุชาวขอนแก่นท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  พระอาจารย์ของท่านนั้นเป็นผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่ไม่ขาด  มีเรื่องที่น่ามหัศจรรย์เกิดขึ้นคือ บรรดาสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าชอบเดินตามและมาคลอเคลียอยู่ใกล้ๆ ท่านเสมอ  เวลาท่านไปไหนก็มักจะมีสัตว์ชอบตามไป  ยิ่งกว่านั้น แม้แต่พวกสัตว์ที่มีพิษเช่น แมงป่อง ตะขาบ เอย ก็ยังติดตามท่านมาและไม่มีอันตรายสักนิด  เหมือนเขาเหล่านั้นต้องการความสงบสุขร่มเย็นรอบๆ ตัวท่าน  นี่ยังไม่นับถึงผีสางเทวดาที่มองไม่เห็น  เรื่องเช่นนี้ยังคงมีอยู่แม้ในยุครัตนโกสินทร์สองร้อยกว่าปีแล้ว

อุบาสิกาปราบผี

        ผู้เขียนเคยสนทนาธรรมกับอุบาสิกาที่มีชื่อเสียงในการแก้ปัญหาเรื่องภูตผีวิญญาณ  คนเขาร่ำลือว่าท่านปราบผีได้  แต่ท่านบอกว่าส่วนมากแล้วท่านไม่ได้ปราบผีเลย  ถ้าพบว่ามีผีมาทำอะไรที่ขัดแย้งกับความเป็นอยู่ของคนท่านก็จะพูดเพราะๆ ขอร้องดีๆ  ท่านบอกว่า
        ผีเขาชอบพูดเพราะๆ
        เป็นเรื่องที่แปลกแต่ก็น่าคิด  คงไม่ใช่แต่ผีเท่านั้นที่ชอบเพราะคนเรายังชอบเลย  ท่านบอกว่าพอเราไกล่เกลี่ยพูดจาขอร้องด้วยเหตุผลอันควร  เขาก็ยอมรับได้  ท่านจะอาราธนาบารมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วอุทิศบุญกุศลไปให้และแผ่เมตตา  เรื่องก็จะจบลงด้วยดี

อุบาสกไปสร้างเจดีย์

        อุบาสกท่านหนึ่งได้ไปกำกับดูแลการสร้างพระเจดีย์ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี  ระหว่างนั้น  ท่านได้สวด กรณียเมตตสูตร เป็นประจำแผ่เมตตาไปทั่วป่าเขาและโลกทั้งปวง  ปรากฏว่าได้นิมิตฝันล้วนแต่ที่ดีๆ ทั้งนั้น  ท่านนิมิตฝันเห็นภิกษุชรามาบอกว่า ให้อยู่ปฏิบัติกันตามสบาย  พวกวิญญาณต่างๆ ท่านให้เลี่ยงไปมาตามแนวผนังถ้ำไม่ให้มารบกวน  นอกจากนี้ยังมีนิมิตเห็นเจ้าที่เจ้าทางล้วนมาทักทายปราศรัยด้วยอัธยาศัยอันดีเหมือนหนึ่งญาติสนิท  การก่อสร้างถาวรวัตถุทางศาสนาก็เป็นไปด้วยความราบรื่น

ความเป็นมาของกรณียเมตตสูตร

        ในสมัยพุทธกาล  พระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ในเมืองสาวัตถี  เรียนกรรมฐานในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วพากันเดินทางออกจากวัดพระเชตะวัน  บ่ายหน้าสู่เทือกเขาหิมาลัยอันอยู่ทางทิศเหนือ  เดินทางไปประมาณ ๑๐๐ โยชน์  ก็ถึงหมู่บ้านใหญ่ใกล้เชิงเขามีผู้คนอยู่อาศัยกันหนาแน่น   ในที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้น มีภูเขาลูกหนึ่งทอดต่อเนื่องมาจากภูเขาหิมาลัย  เป็นที่สัปปายะสงบและร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่มีน้ำใสสะอาดและเย็นสนิท
        ชาวบ้านในแถบนี้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  เมื่อเห็นพระมาก็พากันยินดี  เพราะในแถบชนบทปลายแดนนี้  นานๆ จึงจะมีพระภิกษุจาริกผ่านมา  จึงเข้ากราบเรียนถามและเมื่อทราบถึงจุดประสงค์แล้ว  ก็พร้อมใจกันนิมนต์ท่านพักเจริญสมณธรรมในราวป่า  เพื่อพวกตนจะได้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ รับศีล ฟังเทศน์ และปฏิบัติธรรม
        ภิกษุเหล่านั้นคิดว่าคงไม่มีอันตรายอะไรในป่านั้นจึงได้รับนิมนต์  ชาวบ้านทั้งหลายได้ร่วมแรงร่วมใจกัน  ก่อสร้างกุฏิอันเหมาะสมจำนวน ๕๐๐ หลัง ถวาย
        ภิกษุเหล่านั้นจึงได้พากันเข้าป่า  ต่างแยกย้ายและเริ่มปรารภความเพียรในการฝึกจิตของตนทั้งกลางวันและกลางคืน  โดยอาศัยโคนไม้ใหญ่เป็นที่เจริญภาวนาและเดินจงกรม 
        รุกขเทวดา ซึ่งได้ยึดต้นไม้ในราวป่านั้นเป็นที่อาศัย  ครั้นเห็นพระภิกษุผู้อุดมด้วยศีลและคุณธรรมพากันมาเจริญภาวนา ณ โคนต้นไม้เช่นนั้น  จึงพร้อมใจกันลงมาอาศัยอยู่พื้นดิน  ต้องเสวยทุกขเวทนานานร่วมครึ่งเดือน  นานวันเข้า ความอดทนเริ่มลดน้อยลงไป  จึงคิดจะพากันขับไล่ให้พระภิกษุทั้งหมดออกจากสถานที่นั้น 
ในค่ำคืนวันหนึ่ง  ขณะที่พระภิกษุทั้งหลายต่างแยกย้ายกันปฏิบัติธรรมอยู่นั้น  ก็ดลบันดาลให้เกิดสิ่งน่าสะพรึงกลัว เช่น กลิ่นเหม็นน่าสะอิดสะเอียน เสียงร้องอันโหยหวน และซากศพที่น่าเกลียดน่ากลัว  เหล่าพระภิกษุจึงไม่เป็นอันเจริญภาวนาได้  ในที่สุดก็ได้ปรึกษาและตกลงกันว่า  จะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงทราบเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว  จึงแสดง กรณียเมตตสูตร แก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป แล้วทรงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอพึงสาธยายพระสูตรนี้  ตั้งแต่ราวไพรภายนอกพระวิหารที่อยู่  ก่อนเข้าสู่พระวิหารในราวไพร
ภิกษุเหล่านั้นถวายบังคมลาแล้วได้ออกเดินทางไปตามลำดับ  พากันสาธยาย กรณียเมตตสูตร ตั้งแต่เขตชายป่าตามพุทธดำรัส
พวกเทวดาในป่าทั้งหมด  ได้รับกระแสแห่งเมตตาจิตของพระภิกษุเหล่านั้น  ต่างยินดีพากันมาต้อนรับ  ปกป้องคุ้มครองพระภิกษุทุกรูปผู้ปฏิบัติสมณธรรมในป่าแห่งนั้น  ทำให้ป่าสงบรื่นรมย์ไม่มีสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นอีกต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นได้เจริญภาวนาทั้งกลางวันและกลางคืนจนไดบรรลุอรหัตผลทุกรูป

กรณียเมตตสูตร

กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ  ยันตังสันตัง  ปะทัง  อะภิสะเมจจะ (กิจอันใดอันพระอริยเจ้าบรรลุแล้วซึ่งบทอันระงับกระทำแล้ว  กิจนั้น อันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงกระทำ)
สักโก  อุชู  จะสุหุชูจะ (กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญแลซื่อตรงด้วยดี)
สุวะโจ  จัสสะ  มุทุ  อะนะติมานี (เป็นผู้ว่าง่ายละมุนละไม  ไม่มีอติมานะ)
สันตุสสะโกจะสุภะโรจะ (เป็นผู้สันโดษและเป็นผู้เลี้ยงง่าย)
อัปปะกิจโจ จะ  สัลละหุกะวุตติ (เป็นผู้มีธุระน้อย  ประพฤติเบากายและจิต)
สันตินทะริโย จะ  นิปะโก จะ (มีอินทรีย์อันระงับแล้ว  มีปัญญาดี)
อัปปะคัพโภ  กุเลสุ  อะนะนุคิทโธ (เป็นผู้ไม่คะนอง  ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย)
นะจะขุททัง  สะมาจะเร  กิญจิ  เยนะวิญญูปะเร  อุปะวะเทยยุง (วิญญูชนล่วงติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ด้วยกรรมอันใด  ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นน้อยหน่อยหนึ่งแล้ว  พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สัตว์ว่า)
สุขิโน  วา  เขมิโน  โหตุ  สัพเพ  สัตตา  ภะวันตุ  สุขิตัตตา (ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง  จงเป็นผู้มีสุข  มีความเกษม  มีตนถึงซึ่งความสุขเถิด)
เยเกจิ  ปาณะภูตัตถิ (สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย  เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่)
ตะสา  วา  ถาวะราวา  อะนะวะเสสา (ยังเป็นผู้สะดุ้ง คือ มีตัณหาอยู่  หรือเป็นผู้ถาวรมั่นคง คือตัณหาทั้งหมดไม่เหลือ)
ทีฆา  วาเย  มะหันตาวา (เหล่าใดเป็นทีฆะชาติ หรือ โตใหญ่)
มัชฌิมา  รัสสะกา  อะนุกะถูลา (หรือ ปานกลาง หรือ ต่ำเตี้ย หรือ ผอมพี)
ทิฏฐา  วา  เย  จะ  อะทิฏฐา (เหล่าใดที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น)
เย  จะ  ทูเร  วะสันติ  อะวิทูเร(เหล่าใด  อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้)
ภูตา  วา  สัมภะเวสี  วา (ที่เกิดแล้ว  ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป  หรือยังแสวงหาภพต่อไปก็ดี)
สะพเพ  สัตตา  ภะวันตุ  สุขิตัตตา (ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น  จงเป็นผู้มีตนถึงซึ่งความสุขเถิด)
นะ  ปะโร  ปะรัง  นิกุพเพถะ (สัตว์อื่น  อย่าพึงข่มเหงสัตว์อื่นเลย)
นาติมัญเญถะ  กัตถะจินัง  กิญจิ (อย่าพึงดูหมิ่นอะไรๆ  เขาในที่ไรๆ เลย)
พะยาโรสะนา  ปฏีฆะสัญญา  นาญญะ  มัญญัสสะ  ทุกขะ  มิจเฉยยะ (ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน  ด้วยความกริ้วโกรธแลด้วยปฏิฆะสัญญาความคับแค้นใจทั้งหลาย)
มาตา  ยะถา  นิยัง  ปุตตัง  อายุสา  เอกะปุตตะ  มะนุรักเข (มารดาถนอมบุตรผู้เกิดในตนอันเป็นลูกเอกด้วยอายุ  คือแม้ชีวิตก็สละรักษาบุตรได้ฉันใด)
เอวัมปิ  สัพพะภูเตสุ  มานะ  สัมภาวะเย  อะปะริมาณัง (พึงเจริญเมตตาจิตมีในใจไม่มีประมาณ  ไปในโลกทั้งสิ้น)
อุทธัง  อะโธ  จะติริยัญจะ (ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง)
อะสัมพาธัง  อะเวรัง  อะสะปัตตัง (เป็นธรรมอันไม่คับแคบ  ไม่มีเวร  ไม่มีศัตรู)
ติฏฐัญจะรัง  นิสินโน  วา (ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น  ยืนอยู่ก็ดี  เที่ยวไปก็ดี  นั่งแล้วก็ดี)
สะยาโนวา  ยาวะตัสสะ  วิคะ  ตะมิทโธ (นอนแล้วก็ดี  หรือเป็นผู้มีความง่วงนอนไปปราศแล้วคือยังไม่หลับเพียงไร)
เอตังสะติง  อะธิฏเฐยยะ (ก็ตั้งสติระลึกเมตตาเพียงนั้น)
พรัหมมะเมตัง  วิหารัง  อิธะ  มาหุ (บัณฑิตทั้งหลายกล่าวกิริยาอันนี้ว่า  เป็นพรหมวิหารในพระศาสนานี้)
ทิฏฐิญจะ  อะนะปะคัมมะ  สีละวา (บุคคลที่มีเมตตาพรหมวิหาร  ไม่เข้าถึงทิฏฐิเป็นผู้มีศีล)
ทัสสะเนนะ  สัมปันโน (ถึงพร้อมแล้วด้วยทัสสนะ คือ โสดาปัตติมรรค)
กาเมสุ  วิเนยะเคธัง (นำความกำหนัดในกามทั้งหลายออกได้)
นะหิ  ชาตุ  คัพภะ  เสยยัง  ปุนะเรตีติ (ย่อมไม่ถึงความเกิดในครรภ์อีกโดยแท้ทีเดียว)

พระคาถาที่มาจากกรณียเมตตสูตร

        ท่านที่สวด กรณียเมตตสูตร อยู่เป็นประจำ  ย่อมจะสามารถอาราธนาอานิสงส์ที่ได้สวดปกป้องคุ้มครองหรือให้เกิดผลได้ทุกเมื่อ  เพียงแค่อธิษฐานในใจว่าให้บังเกิดผลในเรื่องใดโดยไม่จำเป็นต้องว่าคาถาอะไร  แต่ตามโบราณนิยมนั้นก็มีรูปแบบการใช้มนต์คาถาจาก กรณีเมตตสูตร ดังนี้

        เมตตัญจะ  สัพพะโลกัสสะมิง

        บทนี้เรียกว่า หัวใจเมตตา หรือ หัวใจกรณี  กล่าวกันว่ามีอานุภาพทางเมตตาและขจัดปัดเป่าโรคภัยทั้งหลาย  เวลาเดินทางไปที่ไหนๆ ถ้าพบสถานศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้า หรือ ศาลพระภูมิ หรือ ศาลหลักเมือง หรือ ศาลเทารักษ์  หากตั้งจิตแผ่เมตตาด้วยพระคาถานี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะคุ้มครองรับช่วงต่อไปเรื่อยๆ ให้แคล้วคลาดปลอดภัย  บางท่านจะบริกรรมทุกครั้งที่เริ่มขับขี่ยวดยานไปมาจนเป็นนิสัย  ก็ปลอดภัยไร้อันตราย

          อะ  ภิ  สะ  เมห์  จะ

        บทนี้เรียกว่า หัวใจมหาระงับ  ใช้ดับพิษทั้งปวงไม่ว่าพิษฝีหรือแมลงกัดต่อย  ภาวนาแล้วกลั้นใจหยิบพิษทิ้งก็จะบรรเทาความเจ็บปวดไปได้

เมตตาเป็นบุญใหญ่

        การเจริญเมตตานี้  กล่าวกันว่าเป็นบุญใหญ่ในทางพระพุทธศาสนา  นอกจากจะมีอานิสงส์มาก  ทำให้รักษาศีลและเกิดสมาธิได้ง่ายแล้ว  ยังสามารถทำได้ในคนทุกระดับไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน  ก็สามารถแผ่เมตตาได้ไม่มีประมาณ  ###

พระคาถา 19 บท

ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก

พระคาถา 19 บท

โดย ชลี
สั้นๆแต่มั่นใจ

        เรื่องราวของพระคาถาสั้นๆอันที่จริงก็คงยากที่จะพรรณาคุณค่าได้จนหมดสิ้น แต่เท่าที่รู้กันต่อๆมานั้นจะพบว่ามีจุดเด่นคือ
        ทำเป็นกรรมฐาน คือเหมาะที่จะบริกรรมจนเป็นสมถะกรรมฐานคือบริกรรมจนจิตสงบถึงระดับฌานซึ่งเป็นขั้นสุดยอดที่พระคาถาจะเกิดอานุภาพสูงสุด
        เกิดผลเร็ว การรวมเอาจุดมุ่งหมายความตั้งใจทั้งหมดมาไว้ที่จุดเดียวจะทำให้เกิดพลังตั้งมั่น การถอนความสนใจจากมนต์อื่นๆและเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงออกไปแล้วหันมาสนใจอยู่กับบทสั้นๆเพียงบทเดียว ทำให้จิตพรากออกจาก นิวรณ์ห้า คือ กาม พยาบาท ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย หดหู่ขี้เกียจ  ทำให้จิตอยู่ในอารมณ์เดียวหรือเอกัคตาได้เร็วขึ้น
        เป็นเหมือนรหัส คือเนื้อความสั้นๆของพระคาถาเป็นที่รวมความสำคัญมั่นหมายถือเอาว่าเป็นคำเฉพาะที่ตั้งเอาไว้ในการอธิษฐานใช้พลัง เปรียบเสมือนรหัสผ่านของเทคโลยีสมัยใหม่  ฉะนั้น ถ้าเราสวดมนต์เป็นประจำมามากสั่งสมไว้แล้วมาตั้งใจอธิษฐานใช้ในคราวเดียวก็สามารถจะใช้พระคาถาสั้นๆที่เราตั้งเอาไว้ได้  ถ้าเราอาราธนาขอเอาบารมีของผู้มีบุญญาธิการที่เรายึดมั่นก็สามารถใช้พระคาถาสั้นๆประจำเช่นกัน  อีกประการหนึ่ง กล่าวกันว่า ในภพภูมิที่ละเอียดซับซ้อนทางจิตวิญญาณก็มีรหัสบอกให้รู้ถึงเครือข่ายพลังเช่นกัน เช่น เมื่อตกอยู่ในสภาวะถูกครอบงำที่จะทำให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง ถ้าบริกรรมคำว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็จะรู้สึกโปร่งโล่งเป็นอิสระได้ทันที

พระคาถาภาวนาแก้ความเจ็บปวด

        เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบพระภิกษุซึ่งเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อคำพันธ์ เคยอยู่ใกล้ชิดอุปัฏฐากพระครูบาอาจารย์จนถึงวันมรณภาพ  ท่านได้เมตตาบอกพระคาถาบทหนึ่งให้กับผู้เขียนว่า

โส  ภะ  คะ  วา  สะ  ระ  อะ

        ท่านบอกว่าเป็นพระคาถาภาวนาแก้ความเจ็บปวดซึ่งเคยมีคนเห็นผลมาแล้ว คือมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งเจ็บป่วยจนถึงต้องผ่าตัด เมื่อภาวนาพระคาถานี้แล้วก็หายเจ็บ แม้ตอนหลังผ่าตัดซึ่งปกติจะเจ็บมากแต่ก็ไม่เจ็บ  ผู้ขียนจึงจดเอาไว้และได้มีโอกาสนำมาเผยแผ่ต่อท่านผู้อ่าน

มีมาแต่โบราณ

        ครั้งแรกที่รู้เนื้อความที่เป็นอักขระใน นวรหคุณ ผู้เขียนก็นึกชอบอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ได้ทราบว่าพระคาถานี้เป็น 1 ใน 19 ของพระคาถา 19 บท ก็ยิ่งสนใจมากขึ้น  ในบางที่มาบอกว่าเป็นคาถาของ พะศีลสนิทคุณ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม(วัดท้ายตลาด) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาและธนบุรี  เมื่อพิจารณารวมกับการสืบทอดทางครูบาอาจารย์สายพระป่าแล้วก็เห็นว่าน่าจะเป็นของเก่าที่ทรงคุณค่า ควรที่จะบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียนกันสืบไป

พระคาถา 19 บท

บทที่ 1  อะ ระ หัง  ภาวนาขับสิ่งใดๆให้พ้นไปจากเรา
บทที่ 2  หัง ระ อะ  ภาวนาให้กลับมาหาเรา
บทที่ 3 มะ อะ อุ  ภาวนาใช้ได้สารพัด
บทที่ 4 นะ โม พุท ธา ยะ ภาวนาเป็นมหาวิเศษนัก
บทที่ 5 พระพุทโธ  ภาวนาให้สูงส่ง
บทที่ 6 โล กะ วิ ทู  ภาวนาทำให้สว่างคือเปิดโลก
บทที่ 7 อะ ทิ สะ  หญิงมีครรภ์เวลาจะคลอดให้ภาวนาจะคลอดง่าย และภาวนาออกจากที่แคบก็ออกได้แล
บทที่ 8 อิ อะ ละ หะ  ภาวนาเสดาะโซ่ตรวน แม้ช่องแคบก็ออกได้
บทที่ 9 อิ มะ นะ มะ  ภาวนาทำสว่างกลายเป็นมืด
บทที่ 10 อิ ติ วะ ลา  ภาวนาเปิดปากสัตว์ต่างๆ เช่น จระเข้ สุนัข เป็นต้น
บทที่ 11 นะ นะ อุ อู  ภาวนาให้คนทั้งหลายเมตตา
บทที่ 12 มะ พะ อัค คะ  ชื่อสาลิกาลิ้นทอง ภาวนาเสกน้ำมัน เครื่องหอม เป็นเมตตาแก่คนทั้งหลาย
บทที่ 13 ขะ ทะ อัค คะ  ชื่อปลาตะเพียนทอง ภาวนาเสกน้ำมันทางเมตตา
บทที่ 14 โส ภะ คะ วา สะ ระ อะ  ถ้าเจ็บปวด ให้ภาวนาหายแล
บทที่ 15 ภะ คะ วา ทุก ขะ ปิ ลิ โล  ได้รับความทุกข์ ภาวนาหายสิ้น
บทที่ 16 ทัส สะ อัส สะ  ภาวนาเป็นล่องหนออกช่องแคบได้
บทที่ 17 นิง มิง พิง ทิง อิง อะ  ภาวนาเป็นทางคงกระพันชาตรี
บทที่ 18 นะ มะ ยะ พะ ทะ  นุ มุ ยุ พุ ทุ  ภาวนาอยู่ปืนแล
บทที่ 19 นิง มิง พิง ทิง  นัง มัง พัง ทัง  ภาวนาอยู่ปืนแล

การภาวนาพระคาถาแบบทำเป็นกรรมฐาน

        การที่ผู้ปฏิบัติบริกรรมภาวนาพระคาถาอันเนื่องด้วยพระพุทธคุณซึ่งทำให้จิตของผู้นั้น เกิดความรำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระครูบาอาจารย์ท่านว่าถือเป็น พุทธานุสติกรรมฐาน สามารถทำให้จิตรวมลงสู่ความสงบแห่งสมถะกรรมฐาน
        ในทำนองเดียวกันหากจิตมีความสำคัญมั่นหมายรำลึกว่า เป็นพระธรรมคุณ เป็นพระสังฆคุณ ก็เป็น ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ทำให้จิตสงบได้เช่นกัน
        หากจิตมีความสำคัญมั่นหมายรำลึกเป็นอย่างอื่น เช่น เป็นอักขระ เป็นเสียง เป็นรูป เป็นมนต์ เป็นต้น หรืออะไรก็แล้วแต่ จิตจะเข้าสู่ความสงบได้หรือไม่ ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้เช่นกัน จะต่างกันแต่ที่ความสำคัญมั่นหมาย  เพราะหากจิตเพ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียวก็เกิดสมาธิได้  ในสมัยโบราณก่อนพุทธกาลก็มีการเพ่งรำลึกถึงหลายอย่าง เช่น เทวดา กสิณ อักขระ มนตรา ยันต์ เป็นต้น  เมื่อพระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงจำแนกธรรม จึงทรงแสดงกรรมฐาน 40 อันครอบคลุมจริตของสัตว์ทั้งหลาย
        การบริกรรมภาวนามนต์คาถาส่วนใหญ่แม้รูปแบบเริ่มต้นจะต่างกันไปบ้าง แต่ในที่สุดก็มักจะรวมลงในความรำลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันไม่มีประมาณ

ความสำเร็จในทางกรรมฐานกับมนต์คาถา

        เรื่องความสงบแห่งจิตนั้นนักปฏิบัติท่านเห็นคล้ายๆกันว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไร เหมือนกับเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต  ไม่ว่าจะเพ่งอะไรหรือปฏิบัติอย่างไรเมื่อจิตวางจากนิวรณ์ทั้งห้าแล้วก็เป็นความสงบอย่างเดียวกัน
        ส่วนอารมณ์ของสิ่งที่กำหนดบริกรรมและความสำเร็จผลในแต่ละอย่างนั้นมีความแตกต่างกันไป  ในเรื่องนี้มีผู้ให้คำอธิบายว่า อาจพิจารณาเปรียบเทียบได้กับการเพ่งกสิณ ถ้าเพ่งไฟก็อาจมีความสามารถอธิษฐานจิตให้เกิดไฟได้ ถ้าเพ่งลมก็อาจบันดาลให้ลมพัด เป็นต้น  ความสำเร็จผลจึงเป็นเรื่องของการเจริญในอารมณ์นั้นๆไปจนถึงที่สุดคือความสงบเป็นสำคัญ
        ในทำนองเดียวกัน ความสำเร็จในมนต์คาถาก็เช่นเดียวกัน  จะสำเร็จได้โดยการเจริญมนต์บทนั้นบทเดียวไปจนกระทั่งจิตดิ่งลงสู่ความสงบ จากนั้นจึงสามารถใช้มนต์ได้ดังใจ
        ถ้าถามว่าผู้ที่เข้าถึงความสงบโดยการปฏิบัติอย่างอื่นแล้วเช่นเพ่งแสงสว่าง จะเอาความสงบมาใช้มนต์คาถาได้ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ นักปฏิบัติท่านคงตอบว่า ได้ แต่ถ้าถามว่าจะเต็มร้อยเท่ากับผู้ที่เจริญมนต์มาโดยตรงหรือไม่ ส่วนใหญ่ท่านอาจจะตอบว่า ไม่เท่า  เพราะแต่ละอารมณ์นั้นต่างกัน
        ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เข้าถึงความสงบด้วยอารมณ์หนึ่งแล้วเช่นเพ่งแสงสว่างก็ดี หากจะเริ่มอารมณ์ใหม่เช่นมนต์คาถาบางบทก็มักจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะได้เรียนรู้ความสงบมาแล้ว ส่วนจะบันดาลให้เกิดอานุภาพในส่วนใดมากกว่า ก็น่าจะขึ้นอยู่กับว่าท่านจะเลือกเจริญอยู่กับส่วนไหนมากกว่านั่นเอง
        อย่างไรก็ตาม ความสงบในขั้นสมถะกรรมฐานก็มีทางแยกที่ทำให้หลงทางได้มาก ผู้ที่มั่นอยู่ใน พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ก็เหมือนกับมีรากฐานทางจิตใจที่ดี ย่อมมีโอกาสมากกว่าที่จะฝ่าพ้นมายาและอุปาทานเข้าถึงสัมมาทิฐิได้

###

น้ำท่วม.....ป้องกันงู...

ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก

น้ำท่วม.....ป้องกันงู...

                โบราณว่าคนถูกงูกัดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำนั้นไม่ค่อยจะรอดชีวิตกันหรอก เพราะพิษของงูที่ได้มาจากพญานาคนั้นแรง 

โดย ชลี

น้ำท่วมต้องระวังงู.....

        น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง อาจเป็นความเห็นในบางทัศนะ  อันที่จริงทั้งสองอย่างเป็นเรื่องไม่ปกติซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันไปตามประสาโลกที่ต้องมีภัยธรรมชาติอยู่และยากที่จะหาความพอดี  ถ้าหากว่าน้ำท่วมนานจนพืชพันธุ์ล้มตายหมดก็ทำให้เกิดฝนแล้งได้เหมือนกัน
        ในฤดูที่กำลังมีน้ำท่วมนี้ทาง อุตุนินิยมฯ เตือนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินพังถล่ม น้ำเพิ่มระดับสูง และกระแสน้ำเชี่ยวกราก  พร้อมกันนี้ก็ต้องระวังสัตว์มีพิษ คือ งู ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์มีพิษอื่นๆ ด้วย

พิษร้าย

        เรื่อง พิษร้าย ของสัตว์โลกนี้ก็อาจมีหลายมุมมองอยู่บ้างโดยอาจจะมองรวมๆ ว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดไป  ถ้าว่ากันทางพระก็คือ กรรม จำแนกสัตว์ให้เป็นไปนั้น 
        กล่าวกันว่าแม้แต่คนเรานี้ก็อาจมีพิษต่อสัตว์อื่น เช่น น้ำลาย ของคนเราถ้าไปโดนแผลในตัวสัตว์เข้าก็ทำให้สัตว์นั้นถึงตายได้  คือลักษณะที่ให้คุณและโทษต่อกันนั้นมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
       มีความเชื่อตามคัมภีร์โบราณอย่างหนึ่งคือ อำนาจของความโกรธ ความแค้น ความผูกพยาบาทจองเวร ทำให้จิตที่เวียนว่ายไปเกิดเป็นสัตว์มีพิษต่างๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน

การสยบพิษร้าย

        การสยบพิษนั้นก็มีอยู่หลายแนวทาง เช่น ใช้พิษต้านพิษ ใช้พิษข่มพิษ ใช้วิธีสลายพิษ เป็นต้น 
        การใช้พิษต้านพิษ หรือ ใช้พิษแก้พิษ  ก็เข้าทำนอง เกลือจิ้มเกลือ หรือ ดำกินดำ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผล  บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นเป็นปฏิปักษ์แก่กันเหมือน งูเห่ากับพังพอน ล้างกันไปไม่จบสิ้น  พองูเห่ากัดก็เอาเสลดพังพอนมาแก้  เหมือนงูกินนกๆ ก็กินงู แมลงกินพืชก็มีตัวห้ำตัวเบียนมากินแมลง  หมุนเวียนหาความสมดุลกันต่อไปตามระบบในธรรมชาติ
        การใช้พิษข่มพิษ  ก็คือการใช้สิ่งที่มีกำลังเหนือกว่ามาทำให้พิษนั้นอ่อนลงและหมดกำลังไป เช่น เอาผึ้งมาต่อยคนเพื่อบำบัดอาการทรมานและรักษาบางโรค เป็นต้น
        การสลายพิษ  เป็นการทำลายพิษในระดับโครงสร้างที่ค่อนข้างครอบคลุม  คือนอกจากจะแก้พิษแล้วยังต้องป้องกันที่มาของพิษในระดับต่างๆ กันด้วย
        การแยกแยะเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของตำราวิชาการแต่อย่างใด  เพียงแต่เป็นการเล่าถึงภูมิปัญญาโบราณของคนเราพอให้ท่านผู้อ่านได้นึกตามเพียงคร่าวๆ เท่านั้น

คนโบราณสยบพิษได้จริง

        เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นคนอีสานเคยเล่าให้ฟังว่า  พ่อใหญ่(คำเรียกหาปู่หรือตา) ท่านหนึ่งในหมู่บ้านของเขาเคยรักษาคนถูกหมาบ้ากัด  แกเอา ฟักเขียว มาขูดเนื้อออกเหลือแต่เปลือกที่มีน้ำขังอยู่แล้วก็เอาน้ำปลาร้ามาผสมน้ำฟักเขียวในเปลือกฟักนั้น  จากนั้นแกก็ทำพิธีบริกรรมคาถาของแกแล้วเอาให้คนถูกหมาบ้ากัดกินเข้าไป  ปรากฏว่าปลอดภัยหายดีทุกอย่าง  หลายปีผ่านไปแม้ว่าหมาที่เป็นบ้าตายไปนานแล้วคนที่ถูกหมากัดก็ไม่ได้เป็นโรคกลัวน้ำแต่อย่างใด

๑๕ ค่ำ พิษพญานาค จริงหรือ...?

       โบราณว่าคนถูกงูกัดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำนั้นไม่ค่อยจะรอดชีวิตกันหรอก เพราะพิษของงูที่ได้มาจากพญานาคนั้นแรง  เรื่องอย่างนี้คนโบราณเขารู้กันทั่วทุกภาค  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
        เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ว่าวันคืนในธรรมชาตินั้นมีความแตกต่างกัน  ในยามข้างขึ้นชาวประมงและแม่ค้าต่างรู้ดีว่าหอยจะตัวโต  คนที่รีดพิษงูของสถานเสาวภาเพื่อเอาไปทำเป็นเซรุ่มก็จะทราบดีว่าพิษของงูจะสมบูรณ์ที่สุดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ
        ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำชาวพุทธผู้เคร่งครัดแต่โบราณมามักถือศีลอยู่เป็นที่เป็นทางไม่ออกไปทำกิจการงานที่ไหน  แม้พญานาคผู้เป็นใหญ่ในตำนานก็จะถือศีลอย่างเคร่งครัดยิ่ง  การจองเวรเบียดเบียนของสัตว์ที่เกิดขึ้นในวันธรรมสวนะเช่นนี้จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องในระดับปกติ
        มีอยู่รายหนึ่งที่มีคนเล่าว่าถูกงูกัดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ  แม้จะอยู่ในที่ซึ่งมีความเจริญทางการแพทย์ที่น่าจะนำส่งโรงพยาบาลไปฉีดเซรุ่มได้ทันแต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน  เพราะงูนั้นฉกกัดที่หน้าผาก...  แล้วจะเอาเชือกไปรัดสกัดกั้นพิษไม่ให้ไปตามกระแสเลือดได้อย่างไร...
        โบราณว่าพิษของ งู ตะขาบ แมงป่อง รวมทั้งสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้รับพลังอานุภาพมาจากพญานาค  แม้ในตำนาน ขันธปริตร ก็กล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ สอนให้พระภิกษุเจริญเมตตาแก่เหล่าพญางู ๔ ตระกูล

ขันธปริตร เรื่องมีมาแต่ก่อนพุทธกาล

        ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ ขันธปริตร ในรายละเอียดว่า  สมัยเมื่อครั้งที่ พระพุทธองค์ ทรงประทับอยู่ใน เชตะวันมหาวิหาร อารามของท่าน อนาถบิณฑิกะ นั้น  มีพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังผ่าฟืนอยู่ใกล้ประตูเรือนไฟในบริเวณพระอาราม  งูเลื้อยออกมาจากระหว่างต้นไม้ผุ  กัดพระภิกษุที่นิ้วเท้า  พระภิกษุนั้นทนพิษไม่ได้ก็มรณภาพ  ข่าวเรื่องงูกัดพระภิกษุตายนี้แพร่ไปทั่วพระอาราม  พวกพระภิกษุก็ตั้งเรื่องขึ้นสนทนากันในที่ประชุมสนทนาธรรม  เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ  จึงได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่อง ขันธปริตร
 พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ดาบสหัวหน้าของเหล่าฤาษีทั้งหลาย  ตั้งอาศรมอยู่ตรงคุ้งแม่น้ำคงคาไหลโค้งเลี้ยวในบริเวณป่าหิมพานต์  เคยสอนให้พวกฤาษีผู้เป็นศิษย์แผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ ตระกูล  เมื่อบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์แผ่เมตตาจิตและระลึกถึงพระพุทธเจ้าตามคำสอนของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น  บรรดางูและสัตว์มีพิษทั้งหลายก็พากันหลบหลีกไปหมด  ไม่มาทำร้าย  ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นั้นคือ ๑.ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักข์ ๒.ตระกูลพญางูชื่อเอราบถ ๓.ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาบุตร ๔.ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมะ
        ใน คัมภีร์อรรถกถา นั้น กล่าวไว้ว่า  พวกสัตว์มีพิษทั้งหมดเป็นสัตว์อยู่ภายใน(อำนาจ)ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้  เมื่อแผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้วก็เป็นอันรวมไปถึงทั่วกันหมด
        ฉะนั้น ชาวพุทธจึงควรรู้จักป้องกันงูและสัตว์มีพิษโดยการสวด ขันธปริตร ซึ่งจะหาได้จากหนังสือสวดมนต์ทั่วไป

สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ร่วมโลก
ย่อมมีความกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา

        เรื่องของ วิถีชีวิต และ ภัยธรรมชาติ ย่อมส่งผลต่อคนและสัตว์ทั้งหลายอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้  ถ้าจะบอกว่า เป็นกรรมร่วม ก็คงไม่ผิด  เพราะสัตว์ทั้งหลายต้องเกิดมาอยู่ร่วมกันในโลกเดียวกันนี้  ถึงเวลาที่เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันบางครั้งก็ยากที่จะตัดสินใจเหมือนกัน
        ผู้เขียนจำได้ว่าเคยสร้างกระต๊อบเก็บหนังสืออยู่ข้างลำราง(คลองเล็ก)สายหนึ่งและมักจะนอนอยู่ประจำที่นั่น  พอถึงฤดูน้ำหลากก็มีพวกงู มดและแมลงต่างๆ มาอยู่กันมาก

ไม่ปรารถนาเวรภัย

        ผู้เขียนเองนั้นชอบสวดมนต์ไหว้พระ  แม้ว่าชีวิตในวัยหนุ่มจะไม่ค่อยเคร่งครัดในศีลแต่ก็ไม่ปรารถนาเบียดเบียนใคร  พอฤดูน้ำหลากน้ำท่วมถึงขาตู้และเตียงก็ยังกางมุ้งนอนโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ  เห็นงูว่ายไปมาแถวตู้หนังสือก็เริ่มทำใจยาก  พอรู้ว่ามันมาอยู่ตรงตู้หนังสือก็พยายามไล่โดยเอาไม้ไปเคาะเสียงดังบ้าง  เอามะนาวที่คนเขาว่างูกลัวไปวางบ้างมันก็ไม่ยอมหนีไป  จึงคิดว่ามันคงจะวางไข่จึงหวงไข่มากไม่ยอมหนี  ก็ตัดสินใจสละกระต๊อบเป็นการชั่วคราวมานอนในบ้าน  คิดว่าพอพ้นหน้าน้ำค่อยเข้าไปจัดแจงใหม่

เพื่อนบ้านไม่พ้นเวรภัย

        ความจริงเรื่องก็รู้กันอยู่แต่ในบ้านแต่เพื่อนบ้านเขาเห็นผิดสังเกตจึงมาแคะไค้ถามกับคนในบ้าน  คนในบ้านก็ตอบไปตามจริงว่า  ผู้เขียนปล่อยกระต๊อบเพราะไม่อยากไล่งูตอนที่มันหวงไข่  คนที่รู้จึงแอบมาจับงูตอนที่ผู้เขียนไม่อยู่เพราะไม่มีรั้วกั้น  ผู้ชายกลางคนที่นำพวกมานั้นตีงูที่หัวตรงแสกหน้าแล้วเอาใส่กระสอบไปขาย  พวกที่มาด้วยก็เอาไข่งูไปแบ่งกันกิน  ผู้เขียนรู้เรื่องภายหลังก็เสียใจอยู่แต่ไม่พูดอะไร
        พออีกไม่นานก็ได้ข่าวว่าผู้ชายกลางคนๆ นั้นโดนรถชนเป็นแผลตรงแสกหน้า  นอนซมป่วยอยู่ไม่นานแกก็ตาย  พอเรื่องกำลังจะเงียบไปก็ได้ยินข่าวลือมาว่ามีคนทรงเจ้าเขาออกปากว่าแกตายเพราะไปฆ่างูเจ้าที่  เจ้าของบ้านเขาเมตตาไม่ทำร้ายแต่แกไปทำก็เลยรับเคราะห์ถึงตาย  เรื่องกฎแห่งกรรมนี้เท็จจริงอย่างไรผู้เขียนไม่ทราบในรายละเอียด  ได้แต่เศร้าใจทั้งเรื่องของงูและเพื่อนบ้าน

ยุติธรรมและเมตตาธรรม

        หากว่าสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกเดียวกันนี้มีกรรมร่วมกัน  ก็ย่อมมีความเกี่ยวข้องและกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา  เมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็กระทบถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายประเภทและยังส่งผลถึงที่อยู่อาศัยของคนด้วย
        เราอาจจะคิดว่าเรามีความชอบธรรมที่จะป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของเรา  แต่เรื่องของกรรมร่วมของสัตว์ร่วมโลกล่ะเราจะปฏิเสธอย่างไร  ถ้าประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังมีสงครามและอดอยากหิวโหย  มันก็เป็นการยากที่จะไม่กระทบถึงความสงบร่มเย็นของประเทศเรา
       โบราณท่านจึงว่าในความยุติธรรมนั้นก็ต้องนึกถึงหลักเมตตาธรรมด้วย 
        เรื่องของ พิษ นั้นตำนานโบราณว่ามีต้นแดนเกิดมาจาก โทสะ หรือ ความโกรธ ความจองเวร อาฆาต และพยาบาท  การให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายของชาวโลกอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องความโกรธและพยาบาทได้  แต่ในทางธรรมสอนว่า จงเอาชนะความโกรธด้วยการไม่โกรธตอบ  เมตตาธรรมสามารถเอาชนะความโกรธได้
        อะ ภิ สะ เมห์ จะ คาถาเป่าดับพิษสัตว์ร้ายที่ถอดมาจาก กรณียเมตตสูตร ก็มาจากเนื้อความที่กล่าวถึงการแผ่เมตตา
        ความในพระบาลี ขันธปริตร ซึ่งป้องกันงูก็ล้วนกล่าวถึงการแผ่ความเมตตาคือความเป็นมิตรทั้งนั้น
        ผู้ที่สำเร็จใน เมตตาพรหมวิหาร นั้น ทั้งยาพิษและพิษของสัตว์ร้ายใดๆ ก็ไม่อาจจะทำอันตรายได้
        แนวทางของการสลายพิษที่ถูกที่ควรนั้นจึงน่าจะเป็นแนวทางของการแผ่เมตตา  ตราบใดที่อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้านั้นยังไม่ถูกสลายไป

###