ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก
น้ำท่วม.....ป้องกันงู...
โบราณว่าคนถูกงูกัดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำนั้นไม่ค่อยจะรอดชีวิตกันหรอก เพราะพิษของงูที่ได้มาจากพญานาคนั้นแรง
โดย ชลี
น้ำท่วมต้องระวังงู.....
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง อาจเป็นความเห็นในบางทัศนะ อันที่จริงทั้งสองอย่างเป็นเรื่องไม่ปกติซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันไปตามประสาโลกที่ต้องมีภัยธรรมชาติอยู่และยากที่จะหาความพอดี ถ้าหากว่าน้ำท่วมนานจนพืชพันธุ์ล้มตายหมดก็ทำให้เกิดฝนแล้งได้เหมือนกัน
ในฤดูที่กำลังมีน้ำท่วมนี้ทาง อุตุนินิยมฯ เตือนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินพังถล่ม น้ำเพิ่มระดับสูง และกระแสน้ำเชี่ยวกราก พร้อมกันนี้ก็ต้องระวังสัตว์มีพิษ คือ งู ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์มีพิษอื่นๆ ด้วย
พิษร้าย
เรื่อง พิษร้าย ของสัตว์โลกนี้ก็อาจมีหลายมุมมองอยู่บ้างโดยอาจจะมองรวมๆ ว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดไป ถ้าว่ากันทางพระก็คือ กรรม จำแนกสัตว์ให้เป็นไปนั้น
กล่าวกันว่าแม้แต่คนเรานี้ก็อาจมีพิษต่อสัตว์อื่น เช่น น้ำลาย ของคนเราถ้าไปโดนแผลในตัวสัตว์เข้าก็ทำให้สัตว์นั้นถึงตายได้ คือลักษณะที่ให้คุณและโทษต่อกันนั้นมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
มีความเชื่อตามคัมภีร์โบราณอย่างหนึ่งคือ อำนาจของความโกรธ ความแค้น ความผูกพยาบาทจองเวร ทำให้จิตที่เวียนว่ายไปเกิดเป็นสัตว์มีพิษต่างๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน
การสยบพิษร้าย
การสยบพิษนั้นก็มีอยู่หลายแนวทาง เช่น ใช้พิษต้านพิษ ใช้พิษข่มพิษ ใช้วิธีสลายพิษ เป็นต้น
การใช้พิษต้านพิษ หรือ ใช้พิษแก้พิษ ก็เข้าทำนอง เกลือจิ้มเกลือ หรือ ดำกินดำ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผล บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นเป็นปฏิปักษ์แก่กันเหมือน งูเห่ากับพังพอน ล้างกันไปไม่จบสิ้น พองูเห่ากัดก็เอาเสลดพังพอนมาแก้ เหมือนงูกินนกๆ ก็กินงู แมลงกินพืชก็มีตัวห้ำตัวเบียนมากินแมลง หมุนเวียนหาความสมดุลกันต่อไปตามระบบในธรรมชาติ
การใช้พิษข่มพิษ ก็คือการใช้สิ่งที่มีกำลังเหนือกว่ามาทำให้พิษนั้นอ่อนลงและหมดกำลังไป เช่น เอาผึ้งมาต่อยคนเพื่อบำบัดอาการทรมานและรักษาบางโรค เป็นต้น
การสลายพิษ เป็นการทำลายพิษในระดับโครงสร้างที่ค่อนข้างครอบคลุม คือนอกจากจะแก้พิษแล้วยังต้องป้องกันที่มาของพิษในระดับต่างๆ กันด้วย
การแยกแยะเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของตำราวิชาการแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเล่าถึงภูมิปัญญาโบราณของคนเราพอให้ท่านผู้อ่านได้นึกตามเพียงคร่าวๆ เท่านั้น
คนโบราณสยบพิษได้จริง
เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นคนอีสานเคยเล่าให้ฟังว่า พ่อใหญ่(คำเรียกหาปู่หรือตา) ท่านหนึ่งในหมู่บ้านของเขาเคยรักษาคนถูกหมาบ้ากัด แกเอา ฟักเขียว มาขูดเนื้อออกเหลือแต่เปลือกที่มีน้ำขังอยู่แล้วก็เอาน้ำปลาร้ามาผสมน้ำฟักเขียวในเปลือกฟักนั้น จากนั้นแกก็ทำพิธีบริกรรมคาถาของแกแล้วเอาให้คนถูกหมาบ้ากัดกินเข้าไป ปรากฏว่าปลอดภัยหายดีทุกอย่าง หลายปีผ่านไปแม้ว่าหมาที่เป็นบ้าตายไปนานแล้วคนที่ถูกหมากัดก็ไม่ได้เป็นโรคกลัวน้ำแต่อย่างใด
๑๕ ค่ำ พิษพญานาค จริงหรือ...?
โบราณว่าคนถูกงูกัดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำนั้นไม่ค่อยจะรอดชีวิตกันหรอก เพราะพิษของงูที่ได้มาจากพญานาคนั้นแรง เรื่องอย่างนี้คนโบราณเขารู้กันทั่วทุกภาค ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ว่าวันคืนในธรรมชาตินั้นมีความแตกต่างกัน ในยามข้างขึ้นชาวประมงและแม่ค้าต่างรู้ดีว่าหอยจะตัวโต คนที่รีดพิษงูของสถานเสาวภาเพื่อเอาไปทำเป็นเซรุ่มก็จะทราบดีว่าพิษของงูจะสมบูรณ์ที่สุดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ
ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำชาวพุทธผู้เคร่งครัดแต่โบราณมามักถือศีลอยู่เป็นที่เป็นทางไม่ออกไปทำกิจการงานที่ไหน แม้พญานาคผู้เป็นใหญ่ในตำนานก็จะถือศีลอย่างเคร่งครัดยิ่ง การจองเวรเบียดเบียนของสัตว์ที่เกิดขึ้นในวันธรรมสวนะเช่นนี้จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องในระดับปกติ
มีอยู่รายหนึ่งที่มีคนเล่าว่าถูกงูกัดในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ แม้จะอยู่ในที่ซึ่งมีความเจริญทางการแพทย์ที่น่าจะนำส่งโรงพยาบาลไปฉีดเซรุ่มได้ทันแต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน เพราะงูนั้นฉกกัดที่หน้าผาก... แล้วจะเอาเชือกไปรัดสกัดกั้นพิษไม่ให้ไปตามกระแสเลือดได้อย่างไร...
โบราณว่าพิษของ งู ตะขาบ แมงป่อง รวมทั้งสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้รับพลังอานุภาพมาจากพญานาค แม้ในตำนาน ขันธปริตร ก็กล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ สอนให้พระภิกษุเจริญเมตตาแก่เหล่าพญางู ๔ ตระกูล
ขันธปริตร เรื่องมีมาแต่ก่อนพุทธกาล
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ ขันธปริตร ในรายละเอียดว่า สมัยเมื่อครั้งที่ พระพุทธองค์ ทรงประทับอยู่ใน เชตะวันมหาวิหาร อารามของท่าน อนาถบิณฑิกะ นั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังผ่าฟืนอยู่ใกล้ประตูเรือนไฟในบริเวณพระอาราม งูเลื้อยออกมาจากระหว่างต้นไม้ผุ กัดพระภิกษุที่นิ้วเท้า พระภิกษุนั้นทนพิษไม่ได้ก็มรณภาพ ข่าวเรื่องงูกัดพระภิกษุตายนี้แพร่ไปทั่วพระอาราม พวกพระภิกษุก็ตั้งเรื่องขึ้นสนทนากันในที่ประชุมสนทนาธรรม เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่อง ขันธปริตร
พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ดาบสหัวหน้าของเหล่าฤาษีทั้งหลาย ตั้งอาศรมอยู่ตรงคุ้งแม่น้ำคงคาไหลโค้งเลี้ยวในบริเวณป่าหิมพานต์ เคยสอนให้พวกฤาษีผู้เป็นศิษย์แผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ ตระกูล เมื่อบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์แผ่เมตตาจิตและระลึกถึงพระพุทธเจ้าตามคำสอนของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น บรรดางูและสัตว์มีพิษทั้งหลายก็พากันหลบหลีกไปหมด ไม่มาทำร้าย ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นั้นคือ ๑.ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักข์ ๒.ตระกูลพญางูชื่อเอราบถ ๓.ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาบุตร ๔.ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมะ
ใน คัมภีร์อรรถกถา นั้น กล่าวไว้ว่า พวกสัตว์มีพิษทั้งหมดเป็นสัตว์อยู่ภายใน(อำนาจ)ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ เมื่อแผ่เมตตาจิตไปถึงตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้วก็เป็นอันรวมไปถึงทั่วกันหมด
ฉะนั้น ชาวพุทธจึงควรรู้จักป้องกันงูและสัตว์มีพิษโดยการสวด ขันธปริตร ซึ่งจะหาได้จากหนังสือสวดมนต์ทั่วไป
สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ร่วมโลก
ย่อมมีความกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา
เรื่องของ วิถีชีวิต และ ภัยธรรมชาติ ย่อมส่งผลต่อคนและสัตว์ทั้งหลายอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าจะบอกว่า เป็นกรรมร่วม ก็คงไม่ผิด เพราะสัตว์ทั้งหลายต้องเกิดมาอยู่ร่วมกันในโลกเดียวกันนี้ ถึงเวลาที่เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันบางครั้งก็ยากที่จะตัดสินใจเหมือนกัน
ผู้เขียนจำได้ว่าเคยสร้างกระต๊อบเก็บหนังสืออยู่ข้างลำราง(คลองเล็ก)สายหนึ่งและมักจะนอนอยู่ประจำที่นั่น พอถึงฤดูน้ำหลากก็มีพวกงู มดและแมลงต่างๆ มาอยู่กันมาก
ไม่ปรารถนาเวรภัย
ผู้เขียนเองนั้นชอบสวดมนต์ไหว้พระ แม้ว่าชีวิตในวัยหนุ่มจะไม่ค่อยเคร่งครัดในศีลแต่ก็ไม่ปรารถนาเบียดเบียนใคร พอฤดูน้ำหลากน้ำท่วมถึงขาตู้และเตียงก็ยังกางมุ้งนอนโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ เห็นงูว่ายไปมาแถวตู้หนังสือก็เริ่มทำใจยาก พอรู้ว่ามันมาอยู่ตรงตู้หนังสือก็พยายามไล่โดยเอาไม้ไปเคาะเสียงดังบ้าง เอามะนาวที่คนเขาว่างูกลัวไปวางบ้างมันก็ไม่ยอมหนีไป จึงคิดว่ามันคงจะวางไข่จึงหวงไข่มากไม่ยอมหนี ก็ตัดสินใจสละกระต๊อบเป็นการชั่วคราวมานอนในบ้าน คิดว่าพอพ้นหน้าน้ำค่อยเข้าไปจัดแจงใหม่
เพื่อนบ้านไม่พ้นเวรภัย
ความจริงเรื่องก็รู้กันอยู่แต่ในบ้านแต่เพื่อนบ้านเขาเห็นผิดสังเกตจึงมาแคะไค้ถามกับคนในบ้าน คนในบ้านก็ตอบไปตามจริงว่า ผู้เขียนปล่อยกระต๊อบเพราะไม่อยากไล่งูตอนที่มันหวงไข่ คนที่รู้จึงแอบมาจับงูตอนที่ผู้เขียนไม่อยู่เพราะไม่มีรั้วกั้น ผู้ชายกลางคนที่นำพวกมานั้นตีงูที่หัวตรงแสกหน้าแล้วเอาใส่กระสอบไปขาย พวกที่มาด้วยก็เอาไข่งูไปแบ่งกันกิน ผู้เขียนรู้เรื่องภายหลังก็เสียใจอยู่แต่ไม่พูดอะไร
พออีกไม่นานก็ได้ข่าวว่าผู้ชายกลางคนๆ นั้นโดนรถชนเป็นแผลตรงแสกหน้า นอนซมป่วยอยู่ไม่นานแกก็ตาย พอเรื่องกำลังจะเงียบไปก็ได้ยินข่าวลือมาว่ามีคนทรงเจ้าเขาออกปากว่าแกตายเพราะไปฆ่างูเจ้าที่ เจ้าของบ้านเขาเมตตาไม่ทำร้ายแต่แกไปทำก็เลยรับเคราะห์ถึงตาย เรื่องกฎแห่งกรรมนี้เท็จจริงอย่างไรผู้เขียนไม่ทราบในรายละเอียด ได้แต่เศร้าใจทั้งเรื่องของงูและเพื่อนบ้าน
ยุติธรรมและเมตตาธรรม
หากว่าสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกเดียวกันนี้มีกรรมร่วมกัน ก็ย่อมมีความเกี่ยวข้องและกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็กระทบถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายประเภทและยังส่งผลถึงที่อยู่อาศัยของคนด้วย
เราอาจจะคิดว่าเรามีความชอบธรรมที่จะป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของเรา แต่เรื่องของกรรมร่วมของสัตว์ร่วมโลกล่ะเราจะปฏิเสธอย่างไร ถ้าประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังมีสงครามและอดอยากหิวโหย มันก็เป็นการยากที่จะไม่กระทบถึงความสงบร่มเย็นของประเทศเรา
โบราณท่านจึงว่าในความยุติธรรมนั้นก็ต้องนึกถึงหลักเมตตาธรรมด้วย
เรื่องของ “พิษ” นั้นตำนานโบราณว่ามีต้นแดนเกิดมาจาก “โทสะ” หรือ “ความโกรธ” ความจองเวร อาฆาต และพยาบาท การให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายของชาวโลกอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องความโกรธและพยาบาทได้ แต่ในทางธรรมสอนว่า จงเอาชนะความโกรธด้วยการไม่โกรธตอบ เมตตาธรรมสามารถเอาชนะความโกรธได้
“อะ ภิ สะ เมห์ จะ” คาถาเป่าดับพิษสัตว์ร้ายที่ถอดมาจาก กรณียเมตตสูตร ก็มาจากเนื้อความที่กล่าวถึงการแผ่เมตตา
ความในพระบาลี ขันธปริตร ซึ่งป้องกันงูก็ล้วนกล่าวถึงการแผ่ความเมตตาคือความเป็นมิตรทั้งนั้น
ผู้ที่สำเร็จใน เมตตาพรหมวิหาร นั้น ทั้งยาพิษและพิษของสัตว์ร้ายใดๆ ก็ไม่อาจจะทำอันตรายได้
แนวทางของการสลายพิษที่ถูกที่ควรนั้นจึงน่าจะเป็นแนวทางของการแผ่เมตตา ตราบใดที่อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้านั้นยังไม่ถูกสลายไป
###
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น