วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

การสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา



 

การสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา

โดย ชลี

การสะเดาะเคราะห์

        คนมีเคราะห์ คือคนที่ประสบกับความทุกข์หรือเหตุร้ายอันไม่พึงปรารถนา  ไม่ว่าจะพิจารณาตามลิขิตของ เทพเจ้า ดวงดาว กรรม หรือเหตุทางธรรมชาติก็ตาม  เคราะห์ที่คนเราหวั่นกลัวนั้นคงไม่ใช่เคราะห์ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว  แต่คงเป็นเรื่องที่กำลังเผชิญอยู่หรือจะพบเจอในอนาคตนั่นต่างหาก
        คนที่ นึกถึงพระ คือคนที่มีสติในขั้นต้น  คือนึกถึงที่พึ่งของตนเอง  เป็นโอกาสทบทวนการกระทำของตัวเองที่ผ่านมา  ก็เป็นปัญญาที่รู้พิจารณาถึงเหตุปัจจัย  จากนั้น ทิฐิ และ ความเชื่อซึ่งมีอยู่ประจำตัวตนของคนเรา  ก็จะเข้ามามีส่วนทำให้เลือกวิถีทางกันต่างๆนานา
        การสะเดาะเคราะห์ มีจริงหรือ...  คนเรามีเคราะห์แล้วแก้ได้จริงหรือ...  มันอาจจะพูดยากถ้าพูดกันไปคนละทาง  แต่ถ้าหากเรามานึกถึงเรื่องในพระไตรปิฎก  ที่ว่ามีสามเณรที่ถึง ฆาต คือถึงกาลมรณภาพแล้วแต่ก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้  เพราะท่านได้ไปช่วยชีวิตปลาในแหล่งน้ำที่แห้งขอดให้พ้นจากความตาย  นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของ อุณหิสสวิชัยเทวบุตร เป็นต้น

นอนโลง  บังสุกุลตาย...บังสุกุลเป็น..  ได้ผลจริงหรือ.?

        พิธี บังสุกุล ให้พ้นเคราะห์กรรมนั้นมีมาแต่โบราณซึ่งมักจะได้รับการจัดอยู่ในเรื่องประเภท ไม่เชื่ออย่าลบหลู่  แน่นอน ชาวพุทธเราไม่ควรลบหลู่ภูมิปัญญาโบราณอยู่แล้ว  แต่เราก็ควรพิจารณาอยู่เหมือนกันว่า  มีความเป็นไปได้อย่างไร  ก่อนอื่นจึงขอจำแนกแยกแยะความเป็นไปได้ตามสามัญสำนึกของปุถุชน ดังนี้
        การระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  ทำให้จิตใจดีขึ้น  การทำให้จิตใจเป็นบุญกุศลเป็นการสร้างเหตุดีหรือกรรมดี  อันจะส่งผลในทางดี
        การระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์  ทำให้ความยึดมั่นในตัวตนน้อยลง ลดความประมาท และความกำเริบของกิเลสตัณหา  ทำให้เกิดปัญญาปล่อยวางความหลงและความชั่ว  เมื่อวางบาปก็เป็นบุญ  บุญที่เคยมีก็แสดงผลได้
        ความเชื่อในตัวผู้กระทำพิธี คือเชื่อว่าบุญบารมีของท่านสามารถขจัดปัดเป่าเคราะห์กรรมให้เราได้  อาจจะเพราะเคยทำบุญร่วมกับท่านมา  ท่านน่าจะสามารถแก้ไขปัดเป่าให้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
        ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ทางไสยศาสตร์ เช่น กล เคล็ด พิธีกรรม และมนต์คาถา เป็นต้น กล่าวคือ
                กล หรือ เล่หกล เป็นการกระทำลักษณะของการอุปโหลกของเทียมขึ้นมาให้เหมือนจริง  เพื่อจะให้ความสำคัญมั่นหมายเบี่ยงเบนกระแสกรรมออกไป  หรือให้สิ่งที่อุปโหลกขึ้นมานั้นรับเคราะห์แทน  เชื่อว่าจะเป็นการลดแรงกรรมหรือขจัดปัดเป่าไปได้ เช่น แกล้งว่าตายแล้ว รับกรรมแล้ว เป็นต้น
                เคล็ด  เป็นการกระทำลักษณะเอารูปแบบและความหมาย เช่น ชื่อสิ่งของ มาให้ความสำคัญมั่นหมายให้เกิดอิทธิพล  ขจัดปัดเป่าแรงกรรมให้พ้นไป เป็นต้น
                มนต์คาถา เป็นการสวดหรือท่องบ่นให้เกิดอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์  เพื่อ ปกป้องคน หรือ ขจัดเคราะห์กรรม เป็นต้น
                ความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้วนั้นแม้ว่าจะมีหลักการที่พอเข้าใจได้  แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะวัดความสำเร็จว่าเกิดจากองค์ประกอบไหน

สำคัญตรงไหน

        การระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ตามหลักธรรมที่ว่าเป็นบุญกุศลนั้น  น่าจะหมายเอาจิตที่เสวยอารมณ์ความสลดสังเวชในความตายนั้นเป็นสำคัญ  ฉะนั้น ถึงแม้จะเข้าไปนอนในโลงหรือชักผ้าบังสุกุลว่าตายแล้วเกิดมาใหม่  ก็อาจจะไม่เข้าถึงความรู้สึกนี้ถ้าหากจิตของผู้เข้าพิธีไม่ได้น้อมเข้าไปเสวยอารมณ์  ยิ่งถ้าหวังพึ่งพาแต่ความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์  ก็อาจจะพลาดจากสาระสำคัญ  อาจจะยิ่งกลายเป็นการหลบเลี่ยงกรรมซึ่งทำให้เกิดกรรมใหม่ซับซ้อนขึ้นมา 

แปลกแต่จริง
นึกถึงความตายกลับไม่ตาย..

        ไม่มีหลักการใดๆกำหนดเอาไว้ว่า  คนที่นึกถึงความตายแล้วจะไม่ตาย  แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลกว่า  มีผู้คนไม่น้อยที่นึกถึงความตายของตัวเองมากๆแล้วกลับไม่ตาย
        แม่ชีทางภาคใต้ ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งร้ายระยะสุดท้าย  ท่านไปนั่งพิงต้นไม้ใหญ่ข้างที่เผาศพแล้วบอกกับเพื่อนว่า  ถ้าตายก็เผาตรงนี้เลยไม่ต้องลำบาก  จากนั้นท่านก็ทำกรรมฐานเพื่อรอวาระสุดท้าย  และแล้วจิตก็รวมลงสู่ความสงบ  พอถอนออกจากสมาธิก็ไม่ตาย  โรคภัยไม่รู้หายไปไหน  ท่านก็อยู่รอดปลอดภัยสบายดีมาอีกนาน
         หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย เมื่อครั้งที่อาพาธหนักท่านได้พิจารณาความตายอยู่ถึง ๗ ชั่วโมง  ได้เล่าถึงสภาวธรรมว่า
        .....ก่อนจะรู้สึกตัว  ดวงสว่างที่ลอยอยู่มันไหวตัวเหมือนโคมไฟที่ถูกลมพัด  พอมันไหวก็รู้สึกทรุดฮวบลงปะทะที่หน้า  คำถามก็เกิดขึ้นว่า 
นี่หรือคือความตาย
ใช่แล้ว...มีคำตอบทันที
พอมีคำตอบ  ความรู้สึกมันก็วิ่งซ่าไปทั้งตัว  เหมือนเราถูกฉีดแคลเซี่ยมเข้าเส้นเลือด  มันร้อนซ่าไปหมด  แสดงว่าก่อนหน้านั้นร่างกายนี้มันตายไปจริงๆ
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกมาก  เป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายว่า  ทำไมมีผู้คนมากมายที่นึกถึงความตายมากๆแล้วกลับไม่ตาย  หรือจะเหมาเอาว่ามันคือวัคซีนทางจิตอย่างหนึ่งก็ใช่ที่  อย่างไรก็ตาม บทพิจารณาความตายก็เป็นมนต์อันศักดิ์สิทธิ์อย่างสุดที่จะประมาณค่ามาแต่โบราณ

บทพิจารณาสังขาร

สัพเพ สังขารา อนิจจา
สังขารคือร่างกายและจิตใจ/แลรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น/ไม่เที่ยง
สัพเพ สังขารา ทุกขา
สังขารคือร่างกายและจิตใจ/แลรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น/เป็นทุกข์
สัพเพ ธัมมา อะนัตตา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง/ทั้งที่เป็นสังขารแลมิใช่สังขารทั้งหมดทั้งสิ้น/ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน/ไม่ควรถือว่าเราว่าของเรา
อะธุวัง ชีวิตัง
ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน
ธุวัง มะระณัง
ความตายเป็นของยั่งยืน
อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง
อันเราจะพึงตายเป็นแท้
มะระณะปะริโยสานัง เมชีวิตัง
ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ
ชีวิตังเม อะนิยะตัง
ชีวิตของเราเป็นของไม่เที่ยง
มะระณัง เม นิยะตัง
ความตายของเราเป็นของเที่ยง
วะตะ อะยัง กาโย อะจิรัง
ควรที่จะสังเวช  ร่างกายนี้  มิได้ตั้งอยู่นาน
อะเปตะวิญญาโณ ฉุฑโท
ครั้นปราศจากวิญญาณ  อันเขาทิ้งเสียแล้ว
อะธิเสสะติ  ปะฐะวิง
จักนอนทับ  ซึ่งแผ่นดิน
กะลิงคะรัง  อิวะ นิรัตถัง
ประดุจว่าท่อนไม้และท่อนฟืน  หาประโยชน์มิได้

เป็นบุญสุดที่จะประมาณได้

        โบราณาจารย์ กล่าวเอาไว้ว่า การนึกถึงความตายนี้เป็นบุญเหลือที่จะประมาณได้  ทำให้ไม่ประมาท  ไม่สะดุ้งกลัวตาย  ไม่ยึดมั่นถือมั่นในชีวิตเหนือกว่าบาปบุญคุณโทษ  ทั้งยังทำให้เกิดความสันโดษประมาณตน
        คนที่ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์อยู่เสมอ ทำให้จิตรวมลงสู่ความสงบตามหลัก มรณานุสสติกรรมฐาน  จึงจัดว่าเป็นบุญอันหาที่สุดไม่ได้
        ส่วนคนที่ พิจารณาจนเกิดปัญญา  จะนำไปสู่การเห็นธรรมอันเรียกว่า อนิจจสัญญา คือความไม่เที่ยงแท้อันเป็นภาวนามยปัญญา  จึงจัดว่าเป็นบุญสุดที่จะประมาณได้

การเพิ่มบุญกับการละบาป
       
        ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อชา  สุภัทโท ท่านเคยเทศนาเรื่อง การทำใจให้เป็นบุญ ในความตอนหนึ่งว่า
        .....พวกเราโดยมากก็มาแสวงหาบุญกัน  แต่ว่าไม่เคยเห็นญาติโยมที่แสวงหาการละบาป.....
       .....ผ้าสกปรกไม่ฟอก  แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ.....     
        พระธรรมเทศนานี้เตือนใจได้ดีถึงความสำคัญของการละบาป  หากพิจารณาว่าการละบาปเป็นการปล่อยวางเคราะห์กรรมก็น่าจะไม่ผิด  เพราะเมื่อคนเราวางต้นเหตุแล้ว ผลต่อไปก็ไม่เกิด  ส่วนเจ้ากรรมนายเวรก็คงไม่มีคู่กรรมคู่เวรจะสานต่อกันอีกต่อไป

การเสวยกรรมในวิปัสสนาญาณ

        เรื่องที่ปุถุชนคนธรรมดาเราๆยังเข้าไม่ถึงคือธรรมของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย  ผู้เขียนเคยฟังพระวิปัสสนาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า 
.....ในสภาวธรรมที่ปรากฏท่ามกลางความเห็นแจ้งของสตินั้น  ท่านเห็นวิบากกรรมเก่าของท่านแสดงผลในมโนทวาร(ใจ)  ...ความรู้สึกเสียวแปล๊บที่ขั้วหัวใจนั้นสร้างความเจ็บปวดสุดพรรรณา  ความทุกข์ทรมานถึงขีดสุดได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป  ภายใต้อำนาจของมหาสติ  ...และแล้ว..  ท่านก็เห็นภาพของสุนัขตัวหนึ่งที่ท่านเคยยิง  เมื่อครั้งยังเป็นตำรวจสมัยเป็นฆราวาส  ท่านเล็งปืนไปที่มันแล้วเหนี่ยวไกยิงตัดตรงขั้วหัวใจมันพอดี......  เจ็บปวดสุดพรรณนา...แล้วก็ตายลง..
แม้ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็จริง  แต่ท่านได้ตายไปแล้วคือตายไปจริงๆภายใต้การรับรู้แห่งสติสัมปชัญญะ

จะมีสักกี่คนในโลกนี้ที่ทำได้..

เหตุผลของการพ้นเคราะห์กรรม

        เมื่อพิจารณาแล้ว  เหตุผลที่คนเราจะพ้นจากเคราะห์กรรมก็น่าจะมีอยู่  แม้ในหลักกฏหมายทางโลก  ก็ยังพิจารณาความผิดจากเจตนาการกระทำเป็นหลัก  ถ้ายังถือปืนจ่อจะยิงกันอยู่ก็จะเจอข้อหาพยายามฆ่าแน่นอน  ไม่มีใครเชื่อได้ว่าจะไม่ยิงหากไม่ลดปืนลง 
        เจตนางดเว้นบาปและการจองเวร ก็เช่นเดียวกัน  ย่อมน่าจะเป็นหัวใจหลักของการปล่อยวางเคราะห์กรรมฉันนั้น

การสืบชะตา

        เมื่อได้พิจารณาถึงการสะเดาะเคราะห์ในหลักของความเป็นไปได้แล้ว  จะเห็นได้ว่า  น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับการสืบชะตาอย่างแยกกันไม่ออก  คนแต่โบราณที่เชื่อหลักของเหตุปัจจัยหรือกฎแห่งกรรมจึงมักจะพิจารณาลงความเห็นกันว่า  การ ลด ละ เลิก เหตุแห่งอกุศลให้มากที่สุด กับ การสร้างเหตุแห่งกุศลกรรมให้มากที่สุดนั่นแหละ  คือการสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาที่ดีที่สุด

ทำบุญด้วยอะไร

        ชีวิตทั้งหลายก็ล้วนแต่ว่าบุญทำกรรมแต่ง  จึงพากันคิดมาตกแต่งบุญกรรมกันด้วยการสร้างเหตุดีๆที่จะเป็นปัจจัยสืบชะตาเราไป  ทาน หรือ การให้ นั้นเป็นสิ่งที่โบราณทราบกันดีและบอกเล่าสืบต่อกันมา
        การให้วัตถุทาน คือการให้วัตถุสิ่งของทั่วๆ ไป  เมื่อวัตถุนั้นได้ทำให้เกิดประโยชน์ด้านใดก็เชื่อกันว่าผู้ให้ย่อมจะได้รับผลหรืออานิสงส์นั้น เช่น ให้ยารักษาโรคหรือสร้างส้วมก็จะอำนวยผลให้ผู้สร้างหายจากโรคภัยและมีสุขภาพดี เป็นต้น
        การให้ทานชีวิต ถือว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่และมีผลมาก  เช่น การช่วยชีวิตคนและสัตว์ให้พ้นจากความตาย เป็นต้น
        การให้อภัยทาน ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่และมีผลมาก  เป็นการให้ของผู้มีจิตใจสูงซึ่งประกอบด้วยสติปัญญา เช่น ให้อภัยแก่ผู้ทำผิดคิดร้ายและจองเวรแก่ตน เป็นต้น
        การให้ธรรมทาน ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่และมีผลมาก  เพราะธรรมมีอานุภาพไม่มีประมาณ  สามารถเปลี่ยน ทิฐิ ทัศนะ และวิถีกรรม ของคนเราได้  เช่น การสร้างสำนึกดีให้กับผู้อื่น เป็นต้น
        อย่างไรก็ตาม  ผู้ให้ก็ควรทำความเข้าใจในความบริสุทธิ์สะอาดของการให้ด้วย  เพราะ การให้ นั้น ไม่ใช่ การเอา  คือจิตของเรามุ่ง เสียสละ  ให้โดยไม่ตระหนี่ถี่เหนียว  เปิดโอกาสให้เจตนาดีงามของเราเกิดขึ้นในใจ  เล็งเห็นประโยชน์สุขอันจะพึงเกิดขึ้นกับผู้รับ  จิตอย่าได้กังวลหมกมุ่นอยู่กับเรื่องว่าเราจะได้อะไร  แม้จิตจะนึกอยู่บ้างตามธรรมดาของปุถุชนแต่อย่าเอาจิตไปซึมซับอยู่ตรงนั้น  ควรที่จะเอาจิตไปเบิกบานไปกับผลทานที่จะเกิดจากสิ่งดีๆ ที่เราทำหรือไม่ก็วางเฉยไว้จะดีกว่า  ถ้าให้แล้วปล่อยวางไปเลยได้ก็ยิ่งดี
       
สวดมนต์บทไหน

        การสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาที่ยึดถือกันมาแต่โบราณนั้น  มีการนำบทสวดมนต์มาใช้อย่างหลากหลาย  จึงขอจำแนกไว้เพียง ๒ ประเภท กล่าวคือ
        สวดบทที่เหมาะสมในกาลอันควร  หมายถึง พระปริตร หรือ พระพุทธมนต์ อันมีที่มากล่าวไว้โดยเฉพาะ เช่น เมื่อมี นิมิต อาเพศ หรือ ลางร้าย ก็สวด อภัยปริตร เพื่อขจัดปัดเป่า  เมื่อจะต่ออายุ ก็สวด อุณหิสสวิชัย  บูชาดวงก็สวด ชยันโตฯ เป็นต้น  ทั้งนี้ก็ควรพิจารณาเหตุแห่งเคราะห์กรรมและเจตนาการสืบชะตาเป็นสำคัญ  เช่น เมื่อรู้หรือมีนิมิตฝันว่าถูกรบกวนจากเจ้าที่เจ้าทางก็ควรสวด กรณียเมตตสูตร แผ่เมตตาให้เขา  เมื่อจะเสริมชะตาเข้ารณรงค์เอาชนะภัยพาลก็อาจสวด พาหุงฯ ธชัคสูตร เป็นต้น
        สวดบทที่ตนเองถนัดหรือยึดมั่นถือมั่นปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ  หมายถึงบทที่คุ้นเคยอยู่แล้ว  ชอบใจอยู่แล้ว  ก็ทำให้มากขึ้นจนเกิดอานุภาพ  เพราะพระพุทธมนต์ทั้งหลายก็จะมีความหมายสื่อในเรื่องพระรัตนตรัยซึ่งมีอานุภาพไม่มีประมาณอยู่แล้ว  การเร่งความเพียรให้ถึงระดับที่เกิดอานุภาพจะทำให้เกิดผลมากกว่า

อาการ ๓๒ ของสูง 
มนต์เหนือมนต์..

        ผู้เขียนเคยไปกราบเยี่ยมและสนทนากับพระภิกษุชราอายุแปดสิบกว่าปีที่ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน กทม. ซึ่งเป็นพระสายวิปัสสนา   ท่านแก่จนหลงลืมอะไรต่อมิอะไรไปหมดแล้ว  แต่สามารถท่องจำ อาการ ๓๒ ได้คล่องแคล่วชัดเจนตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบไม่ขาดไม่เกิน  เช่นเดียวกันกับหลวงตาที่สระบุรีอายุเกือบร้อยซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องมนต์คาถาก็สามารถท่องจนคล่องปากขึ้นใจ  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น..
        ทำไมเวลาพระบวชพระอุปัชฌาย์จึง บอกพระกรรมฐาน ว่า เกสา  โลมา  นะขา  ทันตา  ตะโจ 
        เรื่องเช่นนี้คนโบราณที่เชี่ยวชาญทางเวทมนต์คาถาต่างรู้ดี
        ฉะนั้น  ถ้าจะถามผู้รู้เหล่านั้นว่า
        หมออาคมและคุณไสยที่เรืองฤทธิ์กับผู้เจริญอาการ ๓๒ อย่างเชี่ยวชาญ นั้น  ใครจะมีอานุภาพทางจิตมากกว่า...?  ท่านก็จะตอบว่า  ผู้เจริญอาการ ๓๒
        คนเล่นกสิณ เพ่งฌาน กับ ผู้เจริญอาการ ๓๒ อย่างเชี่ยวชาญนั้น  ใครจะมีอานุภาพทางจิตมากกว่า...?  ท่านก็จะตอบว่า  ผู้เจริญอาการ ๓๒

โบราณว่าเจริญอายุ

        โบราณาจารย์ได้กล่าวเอาไว้ว่าการสวดและเจริญใน อาการ ๓๒ นี้  ควรท่องบ่นจดจำและทำเป็นกรรมฐานไว้อย่างสม่ำเสมอ  จะทำให้มีอายุมั่นขวัญยืน  โรคภัยที่มาเบียดเบียนก็มีน้อย  จะเป็นคนมีสติดีไม่หลงลืมง่าย

ดีสำหรับหญิงที่กำลังมีครรภ์

        คุณแม่ของผู้เขียน  ได้รับคำแนะนำต่อๆมาจากคนโบราณว่า  เมื่อเวลาตั้งท้องลูกแต่ละคนนั้น  ผู้เป็นแม่ควรจะอยู่ในศีลในธรรม  หมั่นท่องบ่นภาวนา อาการ ๓๒ เสมอ  แล้วลูกที่เกิดมาจะมีอวัยวะร่างกายทั้ง ๓๒ ครบถ้วนสมบูรณ์ดี  คุณแม่ก็ทำตาม  ท่านมีลูก ๗ คน ก็ล้วนมีร่างกายสมบูรณ์ครบ ๓๒ ประการทุกคน  จึงขอบอกสืบต่อไว้แด่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

เป็นที่มาแห่งเมตตาธรรม

        โบราณว่า อกเขาอกเรา  แม้ในคำแผ่เมตตาก็จะกล่าวว่า ...สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นเพื่อนทุกข์  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ด้วยกันทั้งสิ้น...   การเข้าถึงถ้อยคำเช่นนี้คงเป็นไปได้ยากถ้าไม่ซึ้งว่า เขา และ เรา นั้น คืออะไรในความเป็นจริง  
พระครูบาอาจารย์ท่านจึงว่า  การแผ่เมตตาของปุถุชนคนทั่วไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ  แต่เมตตานั้นยังเจืออยู่ด้วยกามราคะคือความใคร่  จึงควรรู้ว่าเราก็คือกายกับใจ  เมื่อเราพิจารณา อาการ ๓๒ จะเห็นว่าเราคือใคร  ก็จะเริ่มรักตนเองได้อย่างถูกต้อง  กายนั้นมี อาการ ๓๒  คนอื่นก็มีเหมือนเรา  แม้ทุกข์ในกายใจของผู้อื่นก็มีเช่นเดียวกับเรา  เมื่อรักตนเองอย่างถูกต้องก็จะรักคนอื่นอย่างถูกต้อง

ทางบุญของพระอริยะเจ้าโดยแท้

        ผู้เจริญใน อาการ ๓๒ นั้น อันที่จริงก็คือการเจริญ กายคตาสติกรรมฐาน  เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มาก  ทำให้สงัดจากกาม มีความอดทนอดกลั้น และเบื่อหน่ายในกองทุกข์ทั้งหลาย  อันเป็นทางบารมีแห่งพระอริยะเจ้าโดยแท้  แม้ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในอดีตทั้งหลายที่หลีกเร้นภาวนาจนได้ฌานและญาณอันสูงส่ง  ยังมิได้บรรลุมรรคผลอันประเสริฐ  ก็ยังต้องกลับมาเจริญกายคตาสตินี้  จึงเข้าถึงมหาสติปัฏฐาน  บรรลุถึงความสิ้นทุกข์

การเจริญกายคตาสติ
(อาการ ๓๒ )

หันทะ  มะยัง  กายะคะตาสะติกัมมัฏฐานัง  กาโรมะ  เส

อะยัง  โข  เม  กาโย                         กายของเรานี้แล
อุทธัง  ปาทะตะลา                          เบื้องต้นแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ  เกสะมัตถะกา                       เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต                      มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร  นานับปะการัสสะ  อะสุจิโน   เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
อัตถิ  อิมัสมิง  กาเย              มีอยู่ในกายนี้
เกสา                                       ผมทั้งหลาย
โลมา                                       ขนทั้งหลาย
นะขา                                      เล็บทั้งหลาย
ทันตา                                     ฟันทั้งหลาย
ตะโจ                                       หนัง
มังสัง                                                เนื้อ
นะหารู                                    เอ็นทั้งหลาย
อัฏฐิ                                        กระดูกทั้งหลาย
อัฏฐิมิญชัง                              เยื่อในกระดูก
วักกัง                                      ม้าม
ยะกะนัง                                  ตับ
กิโลมะกัง                                พังผืด
ปิหะกัง                                    ไต
ปับผาสัง                                 ปอด
อันตัง                                      ไส้ใหญ่
อันตะคุณัง                             สายรัดไส้
อุทะริยัง                                  อาหารในท้อง
กะรีสัง                                     อาหารเก่า
ปิตตัง                                      น้ำดี
เสมหัง                                    น้ำเสลด
ปุพโพ                                      น้ำเหลือง
โลหิตัง                                    น้ำเลือด
เสโท                                        น้ำเหงื่อ
เมโท                                       น้ำมันข้น
อัสสุ                                        น้ำตา
วะสา                                       น้ำมันเหลว
เขโฬ                                       น้ำลาย
สิงฆาณิกา                              น้ำมูก
ละสิกา                                    น้ำไขข้อ
มุตตัง                                      น้ำมูตร
มัตถะเก  มัตถะลุงคัง            เยื่อมันสมองในกะโหลกศีรษะ
เอวะมะยัง  เม  กาโย             กายของเรานี้แล
อุทธัง  ปาทะตะลา                 เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ  เกสะมัตถะกา              เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต                      มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร  นานับปะการัสสะอะสุจิโนติ  เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อย่างนี้แล

การย่อแบบหัวใจนักปราชญ์เพื่อการจดจำ

          การท่องบ่นยาวๆ นั้นบางทีจะยากแก่การจดจำ  ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ย่อตัวหน้าเพื่อให้ง่ายขึ้นเพราะเคยลองใช้ได้ผลดีคือย่อเองว่า  เก  โล  ทะ  ทัน  ตะ  มัง  นะ  อัฏ  อัฏ  วัก  หะ  ยะ  กิ  ปิ  ปับ  อัน  อัน  อุ  กะ  ปิด  เสม  ปุพ  โล  เส  เม  อัส  วะ  เข  สิง  ละ  มุต  มัต
        ตำราโบราณอาจมีจำแนกหัวใจเป็นอย่างอื่นอีก  แต่ผู้เขียนไม่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้


ไม่มีความคิดเห็น: