วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตำนานแห่งมนต์คาถา มรดกภูมิปัญญาโลก บทนำ

ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก   
เรียบเรียงโดย ชลี

มรดกคู่โลก

        มนต์คาถา  มีมาคู่โลกและยุคสมัยเนิ่นนานจนยากที่จะสืบค้นต้นตอได้  เป็นภูมิปัญญาซึ่งมีมรดกตกทอดกันมาเกือบทุกลัทธิศาสนาของโลก  ..แน่นอนครับ  หากไม่มีคุณค่าสำหรับชีวิตคนไหนเลยจะเป็นที่ยอมรับตกทอดกันมานานถึงปานนี้
ชีวิตคนเราต้องการที่พึ่ง.. ตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงแก่นแท้แห่งธรรมอันเกษม  ชีวิตใช่ว่าจะมีแต่ใจ  ยังมีกาย มีวาจา  ต้นไม้ใช่จะมีแต่แก่น  ยังมีเปลือก มีกะพี้ ก้าน กิ่ง ใบ ดอก และผล  บันได ก็ไม่ได้มีแต่ขั้นสูงสุด  ยังมีขั้นแรก สอง สาม ตามลำดับกันไป  จะเป็นขั้นไหนก็หาได้สำคัญยิ่งหย่อนไปกว่ากันไม่  คนเคารพบูชาก็มีทั้งสวดมนต์กราบไหว้บูชาและปฏิบัติบูชา  ผู้มีกำลัง สติและปัญญา ก็ต้องอาศัยกำลัง ศรัทธา ความเพียร และอดทน ประกอบกันด้วยจึงจะสำเร็จ  แต่ละอย่างก็มีคุณค่าทำหน้าที่แตกต่างกันไป  มีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ที่ประกอบกันดำรงคงอยู่ได้ด้วยเหตุปัจจัยการอิงอาศัยเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกัน  แม้ผู้ที่เชื่อกันว่าเป็นพระอริยะสงฆ์เจ้าผู้พ้นแล้วท่านก็ยังสอนไม่ให้ทิ้งร้างห่างจากประเพณีอันดีงามของการสวดมนต์ท่องบ่นบริกรรมภาวนาเลย
ชีวิตทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุและปัจจัยคือกรรมเป็นสิ่งนำพา  แม้เราตั้งหน้าตั้งอกตั้งใจทำแต่กรรมดีแต่บางทีอุปสรรคเคราะห์กรรมท่ามกลางความไม่เที่ยงแท้แน่นอนก็ยังส่งผลให้เราท้อแท้ได้เสมอ  ทำให้เกิดคำถามว่า
..ทำไมต้องทำร้ายผู้บริสุทธิ์...
..พยายามจะเป็นคนดีก็กลายเป็นจุดอ่อน  ญญา ก็ต้องอาศัยกำลัง ศรัทธา ความเพียร และอดทน ด้วย่กำลังเดินอยู่ในวิถีแห่งความดีเป็นแน่ สู้อุตส่าห์ตั้งตนไว้ชอบประกอบการบุญกุศลเป็นสุจริตชนไม่เบียดเบียนใคร ..แต่ทำไมต้องตกเป็นเหยื่อ.. 
จึงจำเป็นต้องยั้งคิด  ชีวิตต้องเป็นไปตามกรรมก็จริงอยู่  แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะป้องกันตนเองโดยสุจริตด้วยเมตตาตนและสร้างเหตุดีๆให้พ้นจากอุปสรรคเคราะห์กรรมและก้าวไปสู่ความสำเร็จในสิ่งดีๆได้
ที่สำคัญ เรายังมีที่พึ่งอันเกษม  ผู้ที่ท่านถึงพร้อมด้วยสติปัญญาหลุดพ้นจากโมหะอาสวะทั้งหลายแล้วย่อมจะเปี่ยมด้วยเมตตาคุณอันมากล้นพ้นประมาณ 
...ท่านไม่ทิ้งผู้อยู่เบื้องหลังที่กำลังเดินอยู่ในวิถีแห่งความดีเป็นแน่.

ของพื้นๆแต่ไม่ธรรมดา

        ภูมิปัญญาโบราณด้านนี้เป็นสิ่งที่อนุชนรุ่นหลังไม่ควรดูหมิ่นหรือมองข้ามได้เลย  เรื่องของมนต์คาถาในบางสังคมยุคใหม่อาจเห็นเป็นเรื่อง ไสยศาสตร์ ล้าหลังและงมงาย  นั่นแหละอาจทำให้พลาดโอกาสได้มองเห็นว่า ในน้ำเน่าก็มีเงาจันทร์  ในผืนดินที่เราเหยียบย่ำไปมาทุกวันนั้นเป็นที่ก่อเกิดอัญมณีมากหลาย  ผู้คนเกิดแล้วตายนับเนื่องเนิ่นนานกันมาบางทีอาจจะอยากส่งผ่านบ่งบอกอะไรบางอย่างแก่ชนรุ่นหลังบ้าง  ปราชญ์โบราณท่านอาจซ่อนแฝงอะไรไว้พอเหมาะแก่จริตคน  ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักเลือกสรรเอาประโยชน์ดีกว่าทำลาย  การทำลายของเก่านั้นอาจมีสิ่งดีๆที่รวมอยู่ด้วยกันถูกทำลายไปด้วยซึ่งกว่าจะสร้างได้ก็แสนยาก  แม้สิ่งที่จะสร้างสรรค์ขึ้นใหม่นั้นเล่า ก็ยังไม่มีหลักประกันอะไรให้มั่นใจได้เลยว่าจะดีจริง
        เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องผลึกโมเลกุลของน้ำ ซึ่งในแต่ละสถานการณ์นั้นมีรูปแบบแตกต่างกันไปและพบว่า ผลึกน้ำมนต์ นั้นมีรูปร่างและการจัดระเบียบงดงามเป็นพิเศษ
       งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า เสียงเพลงคลาสสิค นั้นหากเปิดบรรเลงให้หญิงมีครรภ์ฟังเสมอจะส่งผลช่วยให้เด็กที่เกิดมามีสมองและอารมณ์หรือ อีคิว ดีขึ้นกว่าปกติธรรมดา
       ในขณะที่นักปฏิบัติธรรมหลายท่านรู้กันมาตั้งนานแล้วว่าการสวดมนต์มีอานุภาพต่อ จิต ธาตุ พลังงาน มวลสารมากมายมหาศาล  นอกจากนี้ยังสามารถรับรู้และส่งผลได้ถึงโลกอื่นๆอีกมากมายทั้งภพภูมิที่หยาบและภพภูมิที่ละเอียดทุกชั้น

ใครๆก็สวดมนต์ได้

        การสวดมนต์นี้บางคนเห็นว่าถูกกับพวกศรัทธาจริต คือ เป็นผู้ที่มักจะเลื่อมใสได้ง่ายซึ่งก็น่าจะมีส่วนจริง  แต่หากพิจารณากันอย่างกว้างขวางไปกว่านั้นก็น่าจะเข้ากันได้ดีกับจริตอื่นๆด้วยเพราะเป็นการเจริญอนุสติ เช่น พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เทวตานุสติ เป็นต้น  คือระลึกเอามาเป็นอารมณ์ของจิต  โบราณาจารย์ท่านสอนว่า อารักขกรรมฐาน ๔ มี พุทธานุสติ เมตตา อสุภะ และมรณัสสติ  เป็นกรรมฐานที่ล้วนแต่ช่วยให้การปฏิบัติกรรมฐานอย่างอื่นได้ดีซึ่งในบทสวดมนต์นั้นมีอยู่พร้อม  นอกจากนั้น การใช้บท กายคตาสติว่าด้วยอาการ ๓๒ และบทพิจารณาสังขารก็ชื่อว่าได้พิจารณากายและพิจารณาความตายเป็นอารมณ์  ส่วนบทแผ่เมตตาก็ถือเป็นการเจริญเมตตา
        แม้พวกที่โน้มเอียงไปทางชอบใช้ปัญญาพิสูจน์ความจริงคือพุทธจริตก็ยังไปกันได้ดีเพราะเรื่องของมนต์คาถาก็ยืนหยัดท้าทายการพิสูจน์มาหลายยุคหลายสมัยยิ่งกว่างานวิจัยเสียอีก 

หาที่ถูกจริตให้เจอ

        เรื่องของความความถูกใจและพอใจของคนเรานี้เป็นเรื่องใหญ่  ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ถูกใจและพอใจมักจะถูกกับจริตเราแต่ว่าก็ไม่แน่เสมอไป  บางครั้งเราถูกใจและพอใจแต่ไม่รู้สึกว่า ดี สำหรับเราก็มี  ถ้าท่านได้พบกับครูบาอาจารย์ที่มีภูมิจิตภูมิธรรมสูงสามารถให้คำแนะนำท่านได้ก็นับว่าเป็นโชควาสนายิ่งแล้ว
        ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์พิจารณาให้ก็ควรใช้วิธีที่ดีที่สุดคือการพิสูจน์ความจริงด้วยตัวของท่านเอง  สวดมนต์บทไหน ท่องคาถาบทใด แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง เช่น
        รู้สึกจิตใจเพลิดเพลิน บันเทิงอยู่อย่างนั้นไม่รู้เบื่อ
       รูสึกโปร่งสบาย เบากายเบาใจ สงบ
       รู้สึกจิตใจผ่องแผ้วสะอาดสงบ
       รู้สึกเย็นแช่มชื่น อิ่มเอิบ
       รูสึกสังเวช สลดใจ แล้วปล่อยวางไปสู่ความสงบสงัด
       รู้สึกวิเวก เงียบสงัด เย็นสนิท นิ่ง
        ฯลฯ
        ที่ยกมานี้ ล้วนเป็นสัญญาณที่ดีว่าท่านจะเข้ากันได้ดีกับบทสวดมนต์หรือคาถาบทนั้นเพราะการสวดท่องบ่นบริกรรมทำให้ นิวรณ์ ๕ คือ ๑.ควาพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ ๒.ความปองร้ายผู้อื่น ๓.ความมีจิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ๔.ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ๕.ความลังเลไม่ตกลงได้ อ่อนกำลังลงและถอยออกไปได้
        บุญบารมีของคนเรานั้นสั่งสมมาแตกต่างกัน  ท่านอาจค้นพบตัวเองได้จากคาถาสั้นๆเพียงบทเดียวเมื่อคาถานั้นเป็นที่ถือมั่นจนรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวท่านแล้ว  ก็มีตัวอย่างมากมายที่เล่าขาน บางท่านท่อง คาถามหาละลวย คาถาเสริมทรัพย์ คาถาเมตตามหานิยม จนจิตสงบได้สมาธิ  นอกจากได้ผลเบื้องต้นตามคาถาแล้วยังเกิด หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ตามมาเองเป็นของแถมอีกเยอะโดยไม่ได้อธิษฐานร้องขอ  เพราะผลแห่งสมาธิจิตนั้นยิ่งใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่คาดหวังไว้
        อนึ่ง ท่านลองถามตัวเองดูว่า  ถ้าใน วินาทีที่ท่านรู้ตัวว่าจะเจออุบัติเหตุ วินาทีที่ท่านจะดมยาสลบก่อนผ่าตัด หรือวินาทีที่ท่านจะขาดใจตาย  ท่านจะนึกถึงอะไร ..พุทโธหรือ..? ..พระอรหังหรือ..?  หรือว่าพ่อจ๋าแม่จ๋า..!  หรือ  ...ลูก..!  สิ่งอันเป็นที่พึ่งที่เกาะเกี่ยวของจิตจะอยู่กับอะไร  อาจจะได้เข้าใจตนเองว่าโดยส่วนลึกแล้วท่านเป็นคนที่ เชื่อมั่น ยึดมั่น และถือมั่น อยู่กับสิ่งไร
        ครั้งหนึ่ง หลวงปู่มั่น ท่านได้พิจารณาเห็นว่า หลวงปู่ อ่อน ญาณศิริ ผู้มาถวายตัวเป็นศิษย์นั้นเป็นบุคคล ราคะจริต คือค่อนไปทางรักสวยรักงาม จึงให้พระคาถาคำว่า เย กุชโช  ปฏิกุโล ไปบริกรรมภาวนาเป็นผลให้บังเกิดสมาธิจิตในเวลาต่อมา
        หลวงปู่จันทร์  จันทโรภาส แห่งวัดสันป่าข่อย สุโขทัย ท่านบอกว่าสำหรับตัวท่านเองแล้วชอบใช้คำภาวนาว่า อรหัง สุคะโต โลกะวิทู ทำให้จิตสงบดี
        หลวงปู่พล  ธัมมปาโล วัดหนองคณฑี สระบุรี สอนให้ภาวนาว่า สัมพุทโธ ๙ ครั้ง ก่อนนอนหลับ ก่อนดื่มน้ำและทานอาหาร
        นอกจากที่ยกตัวอย่างมานั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือ ภาวนาว่า พุทโธ สัมมาอรหัง นะมะพะทะ เป็นต้น  ท่านสามารถพิสูจน์ได้ในบท พระพุทธคุณ ๙ บท อันมี ๑.อะระหัง  ๒.สัมมาสัมพุทโธ ๓.วิชชาจะระณะสัมปันโน ๔.สุคะโต ๕.โลกะวิทู ๖.อะนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ ๗.สัตถาเทวะมะนุสสานัง ๘.พุทโธ ๙.ภะคะวา  เช่นเดียวกับที่สามารถทดสอบกับ บทสวด พระสูตร พระปริตร หรือมนต์คาถาบทใดก็ได้
        สำหรับผู้ที่มีจริตถูกกับการ ฝึกลมหายใจ เพ่งกสิณ หรือแบบอื่นๆนั้นก็สุดแล้วแต่จะเห็นแปลกแยกออกไป  บางท่านแยกส่วนของกรรมฐานกับมนต์คาถาไว้คนละส่วนเพราะเน้นหนักเรื่องจิตยึดอารมณ์เดียว  บางท่านก็ผสมผเสปนกันไปและค่อยพิจารณาแยกได้ด้วยปัญญาในภายหลังก็มี เช่น การบริกรรมคาถาตามคาบของลม การระลึกสวดมนต์จากดวงกสิณ การระลึกสวดมนต์ที่กลางองค์พระในกายก็มี เป็นต้น  บางท่านหลับตากำหนดเป็นวงแสงไฟฉายส่องไปที่เนื้อหาในบทสวดมนต์ก็เคยได้ยิน  บางคนกำหนดแบบวิปัสสนาคือรู้ปัจจุบันแล้วก็ปล่อยวางไปเลย  อันนี้สุดแล้วแต่อุปนิสัยและความยึดมั่นถือมั่นของแต่ละคน  ผู้เขียนไม่ขอวิจารณ์
        หากจะกล่าวโดยทั่วไปนั้น คนเราก็สามารถจะรู้สึกดีกับบทสวดมนต์และคาถาทั้งหมดเพราะคนเรามักมีจริตปนกันหลายอย่าง  และการสวดมนต์นั้นย่อมจะก่อเกิดอานิสงส์ผลบุญอยู่แล้วตามปกติ  แต่หากต้องการปฏิบัติให้บังเกิดอานุภาพอย่างแท้จริงแล้วควรที่จะเลือกเอาบทเด่นบทเดียวที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะที่สุดสำหรับตนเองและเลือกใช้บทอื่นๆตามโอกาสอันควร

คนที่จะทำได้ดี

        ในสมัยโบราณ พระภิกษุบางรูปนั่งสวดมนต์อยู่ในวิหาร  ครั้นพอดวงจิตท่านระลึกคุณพระพุทธเจ้าเพลินอยู่นั้นก็บังเกิดภาพนิมิตเป็นประหนึ่งว่าภาพของสายน้ำตกก็มี
        สวดมนต์ทำไม..  ผู้เขียนเคยได้รับทราบมาถึงความคิดเห็นของผู้สวดมนต์หลายท่านที่ปฏิบัติได้ดีมักจะให้เหตุผลตรงกันว่า สวดแล้วมีความสุข  ความสุขที่ว่านี้เป็นทำนองเดียวกันคือ ซาบซึ้ง อิ่มเอิบ ผ่องแผ้ว โปร่ง สบาย ฯลฯ
        ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เคยกล่าวถึง ธรรมชีวี ไว้ว่า ...ที่เป็นหลักทั่วๆไป  ก็อยากจะขอร้องให้นึกถึงคำบรรยายระบบธรรมชีวี : ธรรมชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ  คือมีหลักการที่ว่า
-                  ทำอะไร : หน้าที่ทั้งปวงไม่ว่าหน้าที่อะไรด้วย สติสัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ จนมีความถูกต้องๆๆ  บอกตัวเองได้ว่า : ถูกต้อง 
-                  เมื่อถูกต้อง : ก็พอใจๆๆ
-                  เมื่อพอใจ : ก็เป็นสุข : เป็นสุข มีปีติ ปราโมทย์ บันเทิง
ถ้าเป็นคนฝึกอย่างนี้อยู่แล้วเป็นประจำในชีวิตประจำวัน : เป็นธรรมชีวีอยู่แล้วมันก็ง่ายดายที่สุด...
ก็มาได้ข้อคิดว่า  การที่บางคนสวดมนต์มากๆแล้วก็ยังไม่ได้รับผลดีนั้นน่าจะเป็นเพราะยังขาดความพอใจ คือ ไม่ได้ทำอย่างมีความสุข  เพราะความสำเร็จย่อมจะเกิดจาก ๑.ความพอใจ(ฉันทะ) ๒.ความเพียร(วิริยะ) ๓.จิตตะ(เอาใจจดจ่อ) และ ๔.วิมังสา(การสอดส่องตรวจสอบ) ตามหลัก อิทธิบาท ๔ ในพุทธธรรมนั่นเอง
ครั้งหนึ่ง ท่าน อวิ๋นกุเถระได้แนะนำท่าน เหลี่ยวฝาน ว่า ...การบริกรรมก็ต้องทำสม่ำเสมอ ขาดไม่ได้เช่นกัน  ต้องบริกรรมจนแม้ปากไม่บริกรรมแล้วแต่ใจยังคงบริกรรมอยู่  บริกรรมจนไม่รู้สึกว่าตัวเราเป็นผู้บริกรรม  เพราะมนต์ก็ดี การบริกรรมก็ดี ตัวเราผู้บริกรรมก็ดี  ได้ผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียแล้วจนแยกไม่ออกเมื่อใด  เมื่อนั้น การบริกรรมก็ศักดิ์สิทธิ์..
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย ได้อธิบายเกี่ยวกับการนึก พุทโธ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
...ควรจะนึกภาวนาพุทโธๆๆ อยู่ทุกขณะจิตเพื่อจิตของเราจะได้คล่องต่อการนึกพุทโธ  นึกพุทโธจนคล่องตัวซึ่งในที่สุดจิตของเราจะนึกพุทโธๆๆเองโดยอัตโนมัติ  เมื่อจิตของเรานึกพุทโธเองโดยอัตโนมัติ เราไม่ตั้งใจจะนึกแต่ว่ามันนึกพุทโธๆๆของมันเอง  บางครั้งเราห้ามไม่ให้มันนึกมันก็ไม่ยอมหยุด มันนึกของมันอยู่อย่างนั้น  เมื่อจิตไปนึกถึงคำบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆเอง มันไม่ยอมหยุด  จะดึงให้มันหยุดมันไม่ยอมหยุด  มันนึกพุทโธๆๆของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้จิตของท่านติดอยู่กับพุทโธแล้ว  นึกถึงพุทโธเอง เรียกว่าจิตได้ องค์ฌานที่ ๑ คือ วิตก
เมื่อมีสติรู้พร้อมอยู่เอง ในขณะจิตนั้นตัวนึกพุทโธก็นึกอยู่  ตัวระลึกรู้ก็ระลึกรู้อยู่คือตัวสติก็ระลึกอยู่เองโดยอัตโนมัติ  จิตนึกพุทโธเอง ตัวรู้ก็รู้เองโดยอัตโนมัติ  มันนึกจนกระทั่งมันไม่ยอมหยุดตัวรู้ก็ไม่ยอมหยุด  ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ มันนึกพุทโธๆๆของมันอยู่อย่างนั้นซึ่งรู้สึกว่ามันนึกอยู่ในส่วนลึกๆของจิตซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะนึก  อันนี้เรียกว่าผู้ภาวนาได้ องค์ฌานที่ ๑ และ ๒ คือ วิตก กับ วิจาร
เมื่อจิตของท่านมานึกพุทโธเอง สติก็รู้อยู่เอง ท่านอย่าไปรำคาญ  เค้าจะนึกของเค้าอยู่อย่างนั้นก็ปล่อยให้เค้านึกไปเถอะ  โดยธรรมชาติของจิต ถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก  ความสงบละเอียดมันก็จะก้าวเข้าไปทีละขั้นตอน  เมื่อจิตมี วิตก วิจาร  ปีติ คือความอิ่มเอิบใจก็จะบังเกิดขึ้น  หนีไม่รอด ขอให้ได้ วิตก กับ วิจาร แล้ว ปีติ มันจะบังเกิดขึ้นมาเอง
ในอันดับแรกที่ ปีติ จะบังเกิดขึ้นนั้น  ผู้ภาวนาจะต้องรู้สึกว่ามี กายเบา จิตก็เบา  บางครั้งจะรู้สึกว่าตัวมันคล้ายๆกับจะลอยขึ้นบนอากาศหรือบางทีจะรู้ว่าไม่ได้นั่งอยู่กับพื้นเพราะกายมันเบาและในอันดับนั้นจิตมันจะปลอดโปร่ง มีความเบา เบาอกเบาใจ  อันนี้เป็นอาการเริ่มแรกที่ปีติมันจะพึงบังเกิดขึ้น  ทีนี้เมื่อเกิดเบากายเบาจิตต่อไปกายสงบจิตก็สงบ  คือกายสงบจากทุกขเวทนาต่างๆ ความปวด ความเมื่อย และอาการอื่นๆซึ่งเป็นทุกขเวทนาหายไปคือมันสงบจากทุกขเวทนานั่นเอง  จิตก็สงบจากความฟุ้งซ่านนั่นเอง  กามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา(นิวรณ์ ๕ มี ๑.พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ ๒.ปองร้ายผู้อื่น ๓.จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ๔.ฟุ้งซ่านและรำคาญ ๕.ลังเลไม่ตกลงได้ : ผู้เขียน)  เพราะจิตอาศัย ปีติ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง แล้วก็ เป็นสุข อันเป็นผลเกิดจาก ปีติ จิตมีความเอิบอิ่ม มีความเบิกบาน มีความปราโมทย์ บันเทิงในอารมณ์ของกรรมฐานกำลังดูดดื่ม  กำลังเริ่มจะถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อย่างแท้จริง  ปีติ และ ความสุข จึงบังเกิดอย่างเต็มที่...

สวดมนต์ ทำให้...เทวดารัก..

        พระอาจารย์ท่านหนึ่งบอกผู้เขียนว่า
สวดมนต์ก็ดี  เทวดารัก..
ผู้เขียนเคยเรียนถามว่า ทำไมวัดนั้นมีคนไปทำบุญมาก ทำไมศาลเจ้านี้เจริญรุ่งเรืองเร็วมาก  ท่านตอบว่า
เพราะขยันสวดมนต์  ถ้าวัดไหน ศาลเจ้าไหนเอาใจใส่สวดมนต์ตลอดเวลาสม่ำเสมอก็จะมีผู้มาทำบุญอยู่ไม่ขาด

ไม่มีความคิดเห็น: