วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระคาถา 19 บท

ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก

พระคาถา 19 บท

โดย ชลี
สั้นๆแต่มั่นใจ

        เรื่องราวของพระคาถาสั้นๆอันที่จริงก็คงยากที่จะพรรณาคุณค่าได้จนหมดสิ้น แต่เท่าที่รู้กันต่อๆมานั้นจะพบว่ามีจุดเด่นคือ
        ทำเป็นกรรมฐาน คือเหมาะที่จะบริกรรมจนเป็นสมถะกรรมฐานคือบริกรรมจนจิตสงบถึงระดับฌานซึ่งเป็นขั้นสุดยอดที่พระคาถาจะเกิดอานุภาพสูงสุด
        เกิดผลเร็ว การรวมเอาจุดมุ่งหมายความตั้งใจทั้งหมดมาไว้ที่จุดเดียวจะทำให้เกิดพลังตั้งมั่น การถอนความสนใจจากมนต์อื่นๆและเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงออกไปแล้วหันมาสนใจอยู่กับบทสั้นๆเพียงบทเดียว ทำให้จิตพรากออกจาก นิวรณ์ห้า คือ กาม พยาบาท ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย หดหู่ขี้เกียจ  ทำให้จิตอยู่ในอารมณ์เดียวหรือเอกัคตาได้เร็วขึ้น
        เป็นเหมือนรหัส คือเนื้อความสั้นๆของพระคาถาเป็นที่รวมความสำคัญมั่นหมายถือเอาว่าเป็นคำเฉพาะที่ตั้งเอาไว้ในการอธิษฐานใช้พลัง เปรียบเสมือนรหัสผ่านของเทคโลยีสมัยใหม่  ฉะนั้น ถ้าเราสวดมนต์เป็นประจำมามากสั่งสมไว้แล้วมาตั้งใจอธิษฐานใช้ในคราวเดียวก็สามารถจะใช้พระคาถาสั้นๆที่เราตั้งเอาไว้ได้  ถ้าเราอาราธนาขอเอาบารมีของผู้มีบุญญาธิการที่เรายึดมั่นก็สามารถใช้พระคาถาสั้นๆประจำเช่นกัน  อีกประการหนึ่ง กล่าวกันว่า ในภพภูมิที่ละเอียดซับซ้อนทางจิตวิญญาณก็มีรหัสบอกให้รู้ถึงเครือข่ายพลังเช่นกัน เช่น เมื่อตกอยู่ในสภาวะถูกครอบงำที่จะทำให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง ถ้าบริกรรมคำว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็จะรู้สึกโปร่งโล่งเป็นอิสระได้ทันที

พระคาถาภาวนาแก้ความเจ็บปวด

        เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบพระภิกษุซึ่งเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อคำพันธ์ เคยอยู่ใกล้ชิดอุปัฏฐากพระครูบาอาจารย์จนถึงวันมรณภาพ  ท่านได้เมตตาบอกพระคาถาบทหนึ่งให้กับผู้เขียนว่า

โส  ภะ  คะ  วา  สะ  ระ  อะ

        ท่านบอกว่าเป็นพระคาถาภาวนาแก้ความเจ็บปวดซึ่งเคยมีคนเห็นผลมาแล้ว คือมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งเจ็บป่วยจนถึงต้องผ่าตัด เมื่อภาวนาพระคาถานี้แล้วก็หายเจ็บ แม้ตอนหลังผ่าตัดซึ่งปกติจะเจ็บมากแต่ก็ไม่เจ็บ  ผู้ขียนจึงจดเอาไว้และได้มีโอกาสนำมาเผยแผ่ต่อท่านผู้อ่าน

มีมาแต่โบราณ

        ครั้งแรกที่รู้เนื้อความที่เป็นอักขระใน นวรหคุณ ผู้เขียนก็นึกชอบอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ได้ทราบว่าพระคาถานี้เป็น 1 ใน 19 ของพระคาถา 19 บท ก็ยิ่งสนใจมากขึ้น  ในบางที่มาบอกว่าเป็นคาถาของ พะศีลสนิทคุณ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม(วัดท้ายตลาด) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาและธนบุรี  เมื่อพิจารณารวมกับการสืบทอดทางครูบาอาจารย์สายพระป่าแล้วก็เห็นว่าน่าจะเป็นของเก่าที่ทรงคุณค่า ควรที่จะบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียนกันสืบไป

พระคาถา 19 บท

บทที่ 1  อะ ระ หัง  ภาวนาขับสิ่งใดๆให้พ้นไปจากเรา
บทที่ 2  หัง ระ อะ  ภาวนาให้กลับมาหาเรา
บทที่ 3 มะ อะ อุ  ภาวนาใช้ได้สารพัด
บทที่ 4 นะ โม พุท ธา ยะ ภาวนาเป็นมหาวิเศษนัก
บทที่ 5 พระพุทโธ  ภาวนาให้สูงส่ง
บทที่ 6 โล กะ วิ ทู  ภาวนาทำให้สว่างคือเปิดโลก
บทที่ 7 อะ ทิ สะ  หญิงมีครรภ์เวลาจะคลอดให้ภาวนาจะคลอดง่าย และภาวนาออกจากที่แคบก็ออกได้แล
บทที่ 8 อิ อะ ละ หะ  ภาวนาเสดาะโซ่ตรวน แม้ช่องแคบก็ออกได้
บทที่ 9 อิ มะ นะ มะ  ภาวนาทำสว่างกลายเป็นมืด
บทที่ 10 อิ ติ วะ ลา  ภาวนาเปิดปากสัตว์ต่างๆ เช่น จระเข้ สุนัข เป็นต้น
บทที่ 11 นะ นะ อุ อู  ภาวนาให้คนทั้งหลายเมตตา
บทที่ 12 มะ พะ อัค คะ  ชื่อสาลิกาลิ้นทอง ภาวนาเสกน้ำมัน เครื่องหอม เป็นเมตตาแก่คนทั้งหลาย
บทที่ 13 ขะ ทะ อัค คะ  ชื่อปลาตะเพียนทอง ภาวนาเสกน้ำมันทางเมตตา
บทที่ 14 โส ภะ คะ วา สะ ระ อะ  ถ้าเจ็บปวด ให้ภาวนาหายแล
บทที่ 15 ภะ คะ วา ทุก ขะ ปิ ลิ โล  ได้รับความทุกข์ ภาวนาหายสิ้น
บทที่ 16 ทัส สะ อัส สะ  ภาวนาเป็นล่องหนออกช่องแคบได้
บทที่ 17 นิง มิง พิง ทิง อิง อะ  ภาวนาเป็นทางคงกระพันชาตรี
บทที่ 18 นะ มะ ยะ พะ ทะ  นุ มุ ยุ พุ ทุ  ภาวนาอยู่ปืนแล
บทที่ 19 นิง มิง พิง ทิง  นัง มัง พัง ทัง  ภาวนาอยู่ปืนแล

การภาวนาพระคาถาแบบทำเป็นกรรมฐาน

        การที่ผู้ปฏิบัติบริกรรมภาวนาพระคาถาอันเนื่องด้วยพระพุทธคุณซึ่งทำให้จิตของผู้นั้น เกิดความรำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระครูบาอาจารย์ท่านว่าถือเป็น พุทธานุสติกรรมฐาน สามารถทำให้จิตรวมลงสู่ความสงบแห่งสมถะกรรมฐาน
        ในทำนองเดียวกันหากจิตมีความสำคัญมั่นหมายรำลึกว่า เป็นพระธรรมคุณ เป็นพระสังฆคุณ ก็เป็น ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ทำให้จิตสงบได้เช่นกัน
        หากจิตมีความสำคัญมั่นหมายรำลึกเป็นอย่างอื่น เช่น เป็นอักขระ เป็นเสียง เป็นรูป เป็นมนต์ เป็นต้น หรืออะไรก็แล้วแต่ จิตจะเข้าสู่ความสงบได้หรือไม่ ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้เช่นกัน จะต่างกันแต่ที่ความสำคัญมั่นหมาย  เพราะหากจิตเพ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียวก็เกิดสมาธิได้  ในสมัยโบราณก่อนพุทธกาลก็มีการเพ่งรำลึกถึงหลายอย่าง เช่น เทวดา กสิณ อักขระ มนตรา ยันต์ เป็นต้น  เมื่อพระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงจำแนกธรรม จึงทรงแสดงกรรมฐาน 40 อันครอบคลุมจริตของสัตว์ทั้งหลาย
        การบริกรรมภาวนามนต์คาถาส่วนใหญ่แม้รูปแบบเริ่มต้นจะต่างกันไปบ้าง แต่ในที่สุดก็มักจะรวมลงในความรำลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันไม่มีประมาณ

ความสำเร็จในทางกรรมฐานกับมนต์คาถา

        เรื่องความสงบแห่งจิตนั้นนักปฏิบัติท่านเห็นคล้ายๆกันว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไร เหมือนกับเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิต  ไม่ว่าจะเพ่งอะไรหรือปฏิบัติอย่างไรเมื่อจิตวางจากนิวรณ์ทั้งห้าแล้วก็เป็นความสงบอย่างเดียวกัน
        ส่วนอารมณ์ของสิ่งที่กำหนดบริกรรมและความสำเร็จผลในแต่ละอย่างนั้นมีความแตกต่างกันไป  ในเรื่องนี้มีผู้ให้คำอธิบายว่า อาจพิจารณาเปรียบเทียบได้กับการเพ่งกสิณ ถ้าเพ่งไฟก็อาจมีความสามารถอธิษฐานจิตให้เกิดไฟได้ ถ้าเพ่งลมก็อาจบันดาลให้ลมพัด เป็นต้น  ความสำเร็จผลจึงเป็นเรื่องของการเจริญในอารมณ์นั้นๆไปจนถึงที่สุดคือความสงบเป็นสำคัญ
        ในทำนองเดียวกัน ความสำเร็จในมนต์คาถาก็เช่นเดียวกัน  จะสำเร็จได้โดยการเจริญมนต์บทนั้นบทเดียวไปจนกระทั่งจิตดิ่งลงสู่ความสงบ จากนั้นจึงสามารถใช้มนต์ได้ดังใจ
        ถ้าถามว่าผู้ที่เข้าถึงความสงบโดยการปฏิบัติอย่างอื่นแล้วเช่นเพ่งแสงสว่าง จะเอาความสงบมาใช้มนต์คาถาได้ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ นักปฏิบัติท่านคงตอบว่า ได้ แต่ถ้าถามว่าจะเต็มร้อยเท่ากับผู้ที่เจริญมนต์มาโดยตรงหรือไม่ ส่วนใหญ่ท่านอาจจะตอบว่า ไม่เท่า  เพราะแต่ละอารมณ์นั้นต่างกัน
        ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เข้าถึงความสงบด้วยอารมณ์หนึ่งแล้วเช่นเพ่งแสงสว่างก็ดี หากจะเริ่มอารมณ์ใหม่เช่นมนต์คาถาบางบทก็มักจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะได้เรียนรู้ความสงบมาแล้ว ส่วนจะบันดาลให้เกิดอานุภาพในส่วนใดมากกว่า ก็น่าจะขึ้นอยู่กับว่าท่านจะเลือกเจริญอยู่กับส่วนไหนมากกว่านั่นเอง
        อย่างไรก็ตาม ความสงบในขั้นสมถะกรรมฐานก็มีทางแยกที่ทำให้หลงทางได้มาก ผู้ที่มั่นอยู่ใน พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ก็เหมือนกับมีรากฐานทางจิตใจที่ดี ย่อมมีโอกาสมากกว่าที่จะฝ่าพ้นมายาและอุปาทานเข้าถึงสัมมาทิฐิได้

###

ไม่มีความคิดเห็น: