ตำนานแห่งมนต์คาถา
มรดกภูมิปัญญาโลก
ผู้มีเมตตา ย่อมทำให้เป็นที่รัก
ทั้งมนุษย์ สัตว์ ภูตผี และเทวดา
โดย ชลี
ไก่ป่ายังเชื่อง
ครั้งหนึ่ง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์...
ณ บริวเณ วัดพลับ ร้าง (ปัจจุบันคือ วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร) ตอนเช้ามืดใกล้สว่าง คณะของพระอาจารย์สุกลุกขึ้นสวดมนต์ทำวัตรเช้ามืดประจำกลด แผ่เมตตาออกบัวบานพรหมวิหารไปทั่วบริเวณวัดพลับร้าง ตามต้นไม้ใหญ่ๆ นั้น เป็นที่สถิตของรุกขเทวดาน้อย-ใหญ่ จากนั้นพระองค์ท่านและคณะสงฆ์อนุจร ก็นั่งเจริญภาวนาสมาธิจิตอยู่สักครู่หนึ่งจึงออกจากสมาธิ
ขณะนั้นมีชายนุ่งขาวห่มขาวประมาณ ๕ ท่าน ทั้งแก่และหนุ่ม เดินออกมาจากชายป่าด้านทิศตะวันตกของวัดพลับร้าง ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เป็นพญาไม้นานาพันธุ์ ชายนุ่งขาวห่มขาวทั้ง ๕ ต่างมีท่าทียิ้มแย้ม เข้ามากราบนมัสการพระอาจารย์สุกกับพระสงฆ์อนุจร พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในที่นั้นทั้งหมดล้วนมีฌานแก่กล้า ทรงอยู่ในเมตตาฌานตลอด จึงสามารถแลเห็นรุกขเทวดาได้ด้วยตาเปล่า
เหล่ารุกขเทวดาเหล่านั้นต่างแสดงอาการดีใจออกมาให้เห็น ทั้งนี้เพราะได้รับการแผ่เมตตาจากพระอาจารย์สุกและพระสงฆ์อนุจรทั้งสามรูป ทำให้รุกขเทวดาเหล่านั้นมีความสุขเกษมสำราญ เหมือนเมื่อครั้งพระอาจารย์สุก พระอาจารย์จ้าว วัดเกาะหงส์ ท่านแผ่เมตตาให้ เมื่อ ๑๕ ปีก่อน เมื่อสมัยที่เคยมารุกขมูลบริเวณนั้น รุกขเทวดาเหล่านั้น ได้อาราธนานิมนต์ให้พระอาจารย์สุก และคณะพระสงฆ์อนุจรอยู่ที่วัดพลับ พระองค์ท่านทรงตอบว่า ฉันก็ตั้งใจว่าจะมาอยู่ที่นี่เหมือนกัน รุ่งเช้าพระอาจารย์สุกและคณะพระสงฆ์อนุจรออกเที่ยวบิณฑบาต โดยแยกกันไปตามบริเวณละแวกบ้านใกล้วัดหงส์บ้าง บริเวณบ้านเรือนใกล้วัดพระนอนบ้าง โดยถือไม้เท้าไผ่ยอดตาลคู่บารมีไปด้วย พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ กลับมาถึงกลดแล้ว ก็มีชาวบ้านตามมาถึงบริเวณที่ปักกลดเพื่อปรนนิบัติรับใช้พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ ซึ่งเมื่อคืนนี้ ชาวบ้านก็ได้ยินเสียงร้องของเหล่าสัมภเวสีฝูงเปรต ที่จะร้องออกมาทุกครั้งเมื่อถึงวันพระ ชาวบ้านเคยได้ยินได้ฟังเสียงนี้มาจนเคยชิน
เนื่องจากคืนนั้นเป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ อีกหนึ่งอาทิตย์ก็จะเข้าพรรษาแล้วคณะของพระอาจารย์สุก ทุกท่านเป็นพระมหาเถรที่ถือธุดงค์ตลอดชีวิต ๓ ข้อ คือ ถือครองผ้าไตรจีวรสามผืนเป็นวัตร ๑ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ ถือฉันอาหารในบาตรเป็นวัตร ๑ ทั้งสามข้อนี้พระองค์ท่านทรงถือ และถือ ตลอดพระชนม์ชีพ และตลอดชีวิต ทุกพระองค์ขณะที่ชาวบ้าน เดินตามมาเพื่อปรนนิบัติรับใช้ พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ พระองค์
ที่กลดนั้น พวกบรรดาชาวบ้าน ก็ได้มองเห็นฝูงไก่ป่าจำนวนมาก มารุมล้อม พระอาจารย์สุก อยู่รอบกลด ไก่ป่านั้นมีมากมายหลายชนิด ในบริเวณป่าวัดพลับร้างแห่งนี้ ชาวบ้านทั้งหลายก็พากัน อัศจรรย์ใจ ที่เห็นไก่ป่ามารุมล้อมพระอาจารย์สุกมากมายเช่นนี้ โดยไม่กลัวผู้คน และแตกตื่นบินหนีหายเข้าป่าไป เหมือนทุกครั้ง ที่ไก่ป่าได้กลิ่นคนและเห็นคน พระมหาเถรเจ้าทั้ง ๔ ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการอนุโมทนา
พระอาจารย์สุก ท่านก็กล่าวขึ้นว่า ให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตตนนั้นที่อยู่ในป่าวัดพลับร้างนี้ด้วย เพราะพระองค์ท่านทรงทราบด้วยญาณวิถีจิตว่า ณ. ที่นั้นมีบรรดาญาติของเปรตมัคนายกตนนั้นอยู่ด้วย บรรดาญาติทั้งหลายอุทิศกุศลให้ เปรตตนนั้นๆ ก็รับอนุโมทนาส่วนบุญนั้น ชาวบ้านได้สนทนาปราศรัยกับพระอาจารย์สุกว่า วัดพลับแห่งนี้ร้างมานาน ๑๕ ปีแล้ว มีเสียงเปรตร้องขอส่วนบุญทุกๆวันพระ
ขณะนั้น บรรดาคนในที่นั้นคนหนึ่ง ตั้งใจจะถามเรื่องรุกขเทวดา แต่ยังไม่ทันจะเอ่ยปากถาม พระอาจารย์สุกก็ทรงกล่าวด้วยน้ำเสียงเมตตาเบาๆ ขึ้นก่อนว่า ที่นี่แน่นขนัดไปด้วยต้นไม้ใหญ่-น้อย ร่มเย็นมาก เป็นที่สิงสถิตของเหล่ารุกขเทวดา ทั้งหลาย
ขณะนั้นมีชาวบ้านอีกคนหนึ่ง นึกในใจว่าจะกล่าวอาราธนานิมนต์ให้พระองค์ท่านพำนักอยู่ที่วัดพลับ ยังไม่ทันจะเอ่ยปากอาราธนานิมนต์พระองค์ท่าน ก็ทรงกล่าวต่อเนื่องขึ้นว่าฉันตั้งใจไว้ว่าจะมาอยู่ที่นี่เพราะสงบเงียบร่มเย็นดี ครั้นชาวบ้านกลุ่มนั้นกลับไปแล้ว ต่างก็นำเรื่องราวที่พบเห็นไปบอกกล่าวเล่าลือกันสนั่นไป ทั่วทั้งหมู่บ้านนั้นและละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงว่า มีพระสงฆ์รุกขมูลมาปักกลดที่วัดพลับร้างคณะหนึ่ง ท่านกำหนดรู้ใจคนทั้งหลายได้ ทั้งพระองค์ท่านยังมีเมตตาจิตแก่กล้าจนทำให้ไก่ป่าเชื่องมารุมล้อมพระองค์ท่านอยู่มากมาย ข่าวนี้ก็เรื่องลือระบือกันไปเหมือนไฟไหม้ป่า นานแล้วพวกชาวบ้านจะได้พบเห็นพระภิกษุผู้มีเมตตาสูง มีความอัศจรรย์ยิ่งอย่างนี้ ผู้คนทั้งหลายจึงกะเกณฑ์นัดหมายกันว่า เวลาตอนเย็นๆเสร็จธุระการงานแล้ว จะรวมตัวกันมากราบนมัสการ พระอาจารย์สุก และคณะพระสงฆ์อนุจร ณ. ที่บริเวณวัดพลับร้าง
สร้างความสุขร่มเย็น
พระภิกษุชาวขอนแก่นท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พระอาจารย์ของท่านนั้นเป็นผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่ไม่ขาด มีเรื่องที่น่ามหัศจรรย์เกิดขึ้นคือ บรรดาสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าชอบเดินตามและมาคลอเคลียอยู่ใกล้ๆ ท่านเสมอ เวลาท่านไปไหนก็มักจะมีสัตว์ชอบตามไป ยิ่งกว่านั้น แม้แต่พวกสัตว์ที่มีพิษเช่น แมงป่อง ตะขาบ เอย ก็ยังติดตามท่านมาและไม่มีอันตรายสักนิด เหมือนเขาเหล่านั้นต้องการความสงบสุขร่มเย็นรอบๆ ตัวท่าน นี่ยังไม่นับถึงผีสางเทวดาที่มองไม่เห็น เรื่องเช่นนี้ยังคงมีอยู่แม้ในยุครัตนโกสินทร์สองร้อยกว่าปีแล้ว
อุบาสิกาปราบผี
ผู้เขียนเคยสนทนาธรรมกับอุบาสิกาที่มีชื่อเสียงในการแก้ปัญหาเรื่องภูตผีวิญญาณ คนเขาร่ำลือว่าท่านปราบผีได้ แต่ท่านบอกว่าส่วนมากแล้วท่านไม่ได้ปราบผีเลย ถ้าพบว่ามีผีมาทำอะไรที่ขัดแย้งกับความเป็นอยู่ของคนท่านก็จะพูดเพราะๆ ขอร้องดีๆ ท่านบอกว่า
“ผีเขาชอบพูดเพราะๆ “
เป็นเรื่องที่แปลกแต่ก็น่าคิด คงไม่ใช่แต่ผีเท่านั้นที่ชอบเพราะคนเรายังชอบเลย ท่านบอกว่าพอเราไกล่เกลี่ยพูดจาขอร้องด้วยเหตุผลอันควร เขาก็ยอมรับได้ ท่านจะอาราธนาบารมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วอุทิศบุญกุศลไปให้และแผ่เมตตา เรื่องก็จะจบลงด้วยดี
อุบาสกไปสร้างเจดีย์
อุบาสกท่านหนึ่งได้ไปกำกับดูแลการสร้างพระเจดีย์ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างนั้น ท่านได้สวด กรณียเมตตสูตร เป็นประจำแผ่เมตตาไปทั่วป่าเขาและโลกทั้งปวง ปรากฏว่าได้นิมิตฝันล้วนแต่ที่ดีๆ ทั้งนั้น ท่านนิมิตฝันเห็นภิกษุชรามาบอกว่า ให้อยู่ปฏิบัติกันตามสบาย พวกวิญญาณต่างๆ ท่านให้เลี่ยงไปมาตามแนวผนังถ้ำไม่ให้มารบกวน นอกจากนี้ยังมีนิมิตเห็นเจ้าที่เจ้าทางล้วนมาทักทายปราศรัยด้วยอัธยาศัยอันดีเหมือนหนึ่งญาติสนิท การก่อสร้างถาวรวัตถุทางศาสนาก็เป็นไปด้วยความราบรื่น
ความเป็นมาของกรณียเมตตสูตร
ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ในเมืองสาวัตถี เรียนกรรมฐานในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วพากันเดินทางออกจากวัดพระเชตะวัน บ่ายหน้าสู่เทือกเขาหิมาลัยอันอยู่ทางทิศเหนือ เดินทางไปประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ก็ถึงหมู่บ้านใหญ่ใกล้เชิงเขามีผู้คนอยู่อาศัยกันหนาแน่น ในที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้น มีภูเขาลูกหนึ่งทอดต่อเนื่องมาจากภูเขาหิมาลัย เป็นที่สัปปายะสงบและร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่มีน้ำใสสะอาดและเย็นสนิท
ชาวบ้านในแถบนี้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อเห็นพระมาก็พากันยินดี เพราะในแถบชนบทปลายแดนนี้ นานๆ จึงจะมีพระภิกษุจาริกผ่านมา จึงเข้ากราบเรียนถามและเมื่อทราบถึงจุดประสงค์แล้ว ก็พร้อมใจกันนิมนต์ท่านพักเจริญสมณธรรมในราวป่า เพื่อพวกตนจะได้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ รับศีล ฟังเทศน์ และปฏิบัติธรรม
ภิกษุเหล่านั้นคิดว่าคงไม่มีอันตรายอะไรในป่านั้นจึงได้รับนิมนต์ ชาวบ้านทั้งหลายได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ก่อสร้างกุฏิอันเหมาะสมจำนวน ๕๐๐ หลัง ถวาย
ภิกษุเหล่านั้นจึงได้พากันเข้าป่า ต่างแยกย้ายและเริ่มปรารภความเพียรในการฝึกจิตของตนทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอาศัยโคนไม้ใหญ่เป็นที่เจริญภาวนาและเดินจงกรม
รุกขเทวดา ซึ่งได้ยึดต้นไม้ในราวป่านั้นเป็นที่อาศัย ครั้นเห็นพระภิกษุผู้อุดมด้วยศีลและคุณธรรมพากันมาเจริญภาวนา ณ โคนต้นไม้เช่นนั้น จึงพร้อมใจกันลงมาอาศัยอยู่พื้นดิน ต้องเสวยทุกขเวทนานานร่วมครึ่งเดือน นานวันเข้า ความอดทนเริ่มลดน้อยลงไป จึงคิดจะพากันขับไล่ให้พระภิกษุทั้งหมดออกจากสถานที่นั้น
ในค่ำคืนวันหนึ่ง ขณะที่พระภิกษุทั้งหลายต่างแยกย้ายกันปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ก็ดลบันดาลให้เกิดสิ่งน่าสะพรึงกลัว เช่น กลิ่นเหม็นน่าสะอิดสะเอียน เสียงร้องอันโหยหวน และซากศพที่น่าเกลียดน่ากลัว เหล่าพระภิกษุจึงไม่เป็นอันเจริญภาวนาได้ ในที่สุดก็ได้ปรึกษาและตกลงกันว่า จะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงทราบเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว จึงแสดง กรณียเมตตสูตร แก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป แล้วทรงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสาธยายพระสูตรนี้ ตั้งแต่ราวไพรภายนอกพระวิหารที่อยู่ ก่อนเข้าสู่พระวิหารในราวไพร”
ภิกษุเหล่านั้นถวายบังคมลาแล้วได้ออกเดินทางไปตามลำดับ พากันสาธยาย กรณียเมตตสูตร ตั้งแต่เขตชายป่าตามพุทธดำรัส
พวกเทวดาในป่าทั้งหมด ได้รับกระแสแห่งเมตตาจิตของพระภิกษุเหล่านั้น ต่างยินดีพากันมาต้อนรับ ปกป้องคุ้มครองพระภิกษุทุกรูปผู้ปฏิบัติสมณธรรมในป่าแห่งนั้น ทำให้ป่าสงบรื่นรมย์ไม่มีสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นอีกต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นได้เจริญภาวนาทั้งกลางวันและกลางคืนจนไดบรรลุอรหัตผลทุกรูป
กรณียเมตตสูตร
กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตังสันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ (กิจอันใดอันพระอริยเจ้าบรรลุแล้วซึ่งบทอันระงับกระทำแล้ว กิจนั้น อันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงกระทำ)
สักโก อุชู จะสุหุชูจะ (กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญแลซื่อตรงด้วยดี)
สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี (เป็นผู้ว่าง่ายละมุนละไม ไม่มีอติมานะ)
สันตุสสะโกจะสุภะโรจะ (เป็นผู้สันโดษและเป็นผู้เลี้ยงง่าย)
อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ (เป็นผู้มีธุระน้อย ประพฤติเบากายและจิต)
สันตินทะริโย จะ นิปะโก จะ (มีอินทรีย์อันระงับแล้ว มีปัญญาดี)
อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ (เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย)
นะจะขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะวิญญูปะเร อุปะวะเทยยุง (วิญญูชนล่วงติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ด้วยกรรมอันใด ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นน้อยหน่อยหนึ่งแล้ว พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สัตว์ว่า)
สุขิโน วา เขมิโน โหตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา (ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงซึ่งความสุขเถิด)
เยเกจิ ปาณะภูตัตถิ (สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่)
ตะสา วา ถาวะราวา อะนะวะเสสา (ยังเป็นผู้สะดุ้ง คือ มีตัณหาอยู่ หรือเป็นผู้ถาวรมั่นคง คือตัณหาทั้งหมดไม่เหลือ)
ทีฆา วาเย มะหันตาวา (เหล่าใดเป็นทีฆะชาติ หรือ โตใหญ่)
มัชฌิมา รัสสะกา อะนุกะถูลา (หรือ ปานกลาง หรือ ต่ำเตี้ย หรือ ผอมพี)
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา (เหล่าใดที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น)
เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร(เหล่าใด อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้)
ภูตา วา สัมภะเวสี วา (ที่เกิดแล้ว ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป หรือยังแสวงหาภพต่อไปก็ดี)
สะพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา (ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงซึ่งความสุขเถิด)
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ (สัตว์อื่น อย่าพึงข่มเหงสัตว์อื่นเลย)
นาติมัญเญถะ กัตถะจินัง กิญจิ (อย่าพึงดูหมิ่นอะไรๆ เขาในที่ไรๆ เลย)
พะยาโรสะนา ปฏีฆะสัญญา นาญญะ มัญญัสสะ ทุกขะ มิจเฉยยะ (ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน ด้วยความกริ้วโกรธแลด้วยปฏิฆะสัญญาความคับแค้นใจทั้งหลาย)
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะ มะนุรักเข (มารดาถนอมบุตรผู้เกิดในตนอันเป็นลูกเอกด้วยอายุ คือแม้ชีวิตก็สละรักษาบุตรได้ฉันใด)
เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ มานะ สัมภาวะเย อะปะริมาณัง (พึงเจริญเมตตาจิตมีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น)
อุทธัง อะโธ จะติริยัญจะ (ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง)
อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง (เป็นธรรมอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู)
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา (ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น ยืนอยู่ก็ดี เที่ยวไปก็ดี นั่งแล้วก็ดี)
สะยาโนวา ยาวะตัสสะ วิคะ ตะมิทโธ (นอนแล้วก็ดี หรือเป็นผู้มีความง่วงนอนไปปราศแล้วคือยังไม่หลับเพียงไร)
เอตังสะติง อะธิฏเฐยยะ (ก็ตั้งสติระลึกเมตตาเพียงนั้น)
พรัหมมะเมตัง วิหารัง อิธะ มาหุ (บัณฑิตทั้งหลายกล่าวกิริยาอันนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในพระศาสนานี้)
ทิฏฐิญจะ อะนะปะคัมมะ สีละวา (บุคคลที่มีเมตตาพรหมวิหาร ไม่เข้าถึงทิฏฐิเป็นผู้มีศีล)
ทัสสะเนนะ สัมปันโน (ถึงพร้อมแล้วด้วยทัสสนะ คือ โสดาปัตติมรรค)
กาเมสุ วิเนยะเคธัง (นำความกำหนัดในกามทั้งหลายออกได้)
นะหิ ชาตุ คัพภะ เสยยัง ปุนะเรตีติ (ย่อมไม่ถึงความเกิดในครรภ์อีกโดยแท้ทีเดียว)
พระคาถาที่มาจากกรณียเมตตสูตร
ท่านที่สวด กรณียเมตตสูตร อยู่เป็นประจำ ย่อมจะสามารถอาราธนาอานิสงส์ที่ได้สวดปกป้องคุ้มครองหรือให้เกิดผลได้ทุกเมื่อ เพียงแค่อธิษฐานในใจว่าให้บังเกิดผลในเรื่องใดโดยไม่จำเป็นต้องว่าคาถาอะไร แต่ตามโบราณนิยมนั้นก็มีรูปแบบการใช้มนต์คาถาจาก กรณีเมตตสูตร ดังนี้
เมตตัญจะ สัพพะโลกัสสะมิง
บทนี้เรียกว่า หัวใจเมตตา หรือ หัวใจกรณี กล่าวกันว่ามีอานุภาพทางเมตตาและขจัดปัดเป่าโรคภัยทั้งหลาย เวลาเดินทางไปที่ไหนๆ ถ้าพบสถานศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้า หรือ ศาลพระภูมิ หรือ ศาลหลักเมือง หรือ ศาลเทารักษ์ หากตั้งจิตแผ่เมตตาด้วยพระคาถานี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะคุ้มครองรับช่วงต่อไปเรื่อยๆ ให้แคล้วคลาดปลอดภัย บางท่านจะบริกรรมทุกครั้งที่เริ่มขับขี่ยวดยานไปมาจนเป็นนิสัย ก็ปลอดภัยไร้อันตราย
อะ ภิ สะ เมห์ จะ
บทนี้เรียกว่า หัวใจมหาระงับ ใช้ดับพิษทั้งปวงไม่ว่าพิษฝีหรือแมลงกัดต่อย ภาวนาแล้วกลั้นใจหยิบพิษทิ้งก็จะบรรเทาความเจ็บปวดไปได้
เมตตาเป็นบุญใหญ่
การเจริญเมตตานี้ กล่าวกันว่าเป็นบุญใหญ่ในทางพระพุทธศาสนา นอกจากจะมีอานิสงส์มาก ทำให้รักษาศีลและเกิดสมาธิได้ง่ายแล้ว ยังสามารถทำได้ในคนทุกระดับไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ก็สามารถแผ่เมตตาได้ไม่มีประมาณ ###